โบราณว่า "สันดอนขุดง่าย สันดานขุดยาก" บางคนอาจจะสงสัยว่า "สันดอน" ที่ว่าคืออะไร แล้วเหตุใดจึงเป็นคำพูดเปรียบเปรยกับคำว่า "สันดาน"
คำว่า สันดอน เป็นคำนาม หมายถึงดินหรือกรวดทรายเป็นต้นซึ่งน้ำพัดเอามารวมกัน ปรากฏนูนยาวอยู่ใต้น้ำ ทำให้สูงเป็นสันขึ้น
ส่วนคำว่า สันดาน เป็นคำนาม หมายถึง อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด เช่น มีสันดานดี มีสันดานเลว หากใช้ในภาษาปากมักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี เช่น สันดานของเขาเป็นเช่นนี้ อย่าไปถือเลย เมื่อดูคำอธิบายทั้ง ๒ คำแล้ว คงเห็นภาพกันชัดเจนขึ้นว่าที่โบราณเปรียบไว้นั้นเพื่อให้เห็นว่า
การขุดลอกนำดินทรายที่มาทับถมอยู่ในน้ำออกไปทำได้ง่ายกว่าจะแก้อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด
ที่กล่าวถึงคำว่า "สันดาน" ขึ้นมาก่อนนี้เพื่อจะโยงถึงคำอีก ๒ คำ คือคำว่า"นิสัย" และ "อุปนิสัย"
คำว่า นิสัย เป็นคำนาม หมายถึง ความประพฤติที่เคยชิน เช่น เขาตื่นเช้าจนเป็นนิสัย คำว่า "นิสัย" ยังมีความหมายว่า ที่พึ่ง, ที่พักพิง, ที่อาศัยเช่น ผู้อุปสมบทขอฝากตัวเป็นศิษย์พระอุปัชฌาย์เรียกว่า ขอนิสัย แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงความหมายนี้
คำว่า อุปนิสัย เป็นคำนาม หมายถึง ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นมาในสันดาน เช่น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเทศน์โปรดผู้ใดจะต้องทรงพิจารณาถึงอุปนิสัยของผู้นั้นก่อน และยังหมายถึง ความประพฤติที่เคยชินจนเกือบเป็นนิสัย เช่น นักเรียนคนนี้มีอุปนิสัยดี
ความหมายของคำ ๓ คำดังกล่าวที่ประมวลจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีความแตกต่างกัน จึงควรพิจารณาเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับบริบทและกาลเทศะ
นิสัย กับ สันดาน
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!