หลายคนจำได้ว่า เมื่อตอนที่เรายังเป็นเด็กแล้วก็สูญเสียฟันน้ำนม ผู้ใหญ่จะบอกว่าอย่าไปโยนทิ้งเปะปะนะ ให้จับฟันน้ำนมที่หลุดออกไว้ให้มั่นในมือ หันหลังให้กับหลังคาหรือว่าที่สูง แล้วก็โยนข้ามไหล่ขึ้นไปกะให้ฟันขึ้นไปนอนแอ้งแม้งอยู่บนนั้น บางท่านคงจำประสบการณ์ที่เป็นความเขื่อนี้ได้ แต่จะสามารถอธิบายให้เป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นได้บ้างหรือไม่?
ความเชื่อบางฉบับมีรายละเอียดยิ่งกว่านั้นอีก บางคนบอกว่าถ้าฟันล่างหักก็ให้โยนขึ้นหลังคา ถ้าฟันบนหักให้โยนลงใต้บันไดหรือใต้ถุนบ้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราบอกกับเด็กๆ เพราะผู้ใหญ่จะเลิกพูดแบบนี้กันแล้ว เหตุผลสำคัญในเรื่องนี้คือจิตวิทยาเด็ก ทำให้เด็กเกิดความสบายใจ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่เด็กอาจรู้สึกว่าเป็นความสูญเสีย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อจิตใจที่เปราะบางได้ง่ายๆ ผู้ใหญ่สอนว่าถ้าฟันล่างหักก็ต้องขว้างขึ้นบนหลังคาบ้าน ฟันจะได้ขึ้นและขึ้นสวยไม่เอนเอียง ถ้าฟันบนหักต้องขว้างลงใต้ถุนบ้าน ฟันบนใหม่จะได้งอกขึ้นและทิ้งตัวลงมาสวยงาม
ฟันที่หลอหรือไม่สวยเป็นเหตุให้เด็กเกิดความกังวลใจ ยิ่งถ้าถูกล้อ เช่น "ไอ้หลอมาแล้ว" เป็นต้น ก็จะเสียกำลังใจเสียบุคลิกถึงกับปฏิเสธไม่ยอมไปโรงเรียนหรือออกจากบ้านเลย ผู้ใหญ่ในสมัยโบราณจึงคิดค้นหลักคิดและความเชื่อนี้ขึ้นเพื่อปลอบขวัญ และสร้างกำลังใจให้กับลูกหลาน นับว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่มาก่อนพัฒนาการด้านจิตวิทยาเด็กหลายเท่า
มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ (ม.น.ข.)