ทางเลือกคนใช้ชีวิตในอาคาร
ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่หน้าโต๊ะทำงานมากกว่าที่บ้าน ที่อยู่อาศัยก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ใช้ชีวิตแข่งกับเวลา และวิถีชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบาย จึงนิยมอาศัยอยู่ตามอาคารไม่ว่าจะเป็น แฟลต คอนโดมิเนียม หอพัก หรือไม่ก็อพาร์ตเมนต์...
ประเด็นที่เป็นปัญหาตามมาก็คือ การลืมให้ความสำคัญในเรื่องของสภาพแวดล้อม หรือสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมากับอากาศที่ไม่มีการถ่ายเท ไม่ว่าจะเป็นการสะสมของฝุ่นละออง และสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมทั้ง สารพิษที่ปล่อยออกมาจากข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของร่างกาย ที่เกิดจากอากาศภายในอาคารมีคุณภาพไม่ดีพอ!!
ทั้งนี้ ทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถป้องกันได้ ก็คือ การปลูกต้นไม้ดูดสารพิษไว้ในอาคาร โดยต้นไม้กลุ่มนี้จะมีคุณสมบัติพิเศษช่วยดูดซับสารพิษ เปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศจากธรรมชาติชั้นเยี่ยม ที่สามารถตั้งวางไว้ภายในอาคารได้ โดยที่ไม่แย่งอากาศหายใจของคนด้วย..??
ผศ.ดร.พัชรียา บุญกอแก้ว อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ว่า ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าต้นไม้มีคุณประโยชน์มากมายด้วยกัน นอกจากในด้านปัจจัยสี่แล้ว ต้นไม้ยังให้ความร่มรื่น ทั้งสีเขียวที่ดูแล้วสบายตา หรือจะเป็นกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับที่มีสีสันของดอกและใบที่สดใส
นอกจากนี้ ยังสามารถนำต้นไม้มาใช้ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมได้ด้วย อาทิ การนำมาใช้เพื่อบดบังสายตาภายในบ้าน อีกทั้ง ต้นไม้ยังช่วยกันฝุ่นละออง หรือบางครั้งก็สามารถนำต้นไม้มาช่วยในเรื่องของการกรองเสียง เพื่อลดเสียงที่ดังมากจนเกินไปได้
ประโยชน์ที่สำคัญของต้นไม้ที่คนเรามักจะมองข้ามกันไป นั่นคือ ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศ การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพืชนี้ เป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก หรือ ภาวะโลกร้อน ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน ดังนั้น ทำให้มองได้ว่านี่เป็นคุณสมบัติอีกคุณสมบัติหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของต้นไม้ ซึ่งช่วยลดมลพิษได้
“การนำต้นไม้มาปลูกในอาคาร หรือวางประดับในห้องทำงาน สำนักงาน ที่มีสภาพแสงน้อยนั้น สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง คือ การเลือกชนิดพืช ควรเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพแสงน้อย หรือ สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพภายใต้แสงจากหลอดไฟ เช่น พืชกลุ่มไม้ประดับ จากงานวิจัย พบว่า มีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี เมื่ออยู่ในสภาพแสงน้อย แต่พืชกลุ่มไม้ดอกส่วนใหญ่ มีประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี เมื่อปลูกในสภาพ แสงแดดจัด จึงไม่ควรนำมาปลูกเลี้ยงภายในอาคาร”
รู้จัก ไม้ประดับดูดสารพิษ!
ผศ.ดร.พัชรียา กล่าวต่อว่า พืชในกลุ่มไม้ประดับมีความหลากหลายแตกต่างกันทั้งในเรื่องชนิดพันธุ์ ขนาดทรงต้น สีสัน รูปร่างและขนาดของใบ จากการทำวิจัยโดยการนำต้น
อโกลนีม่า หรือ แก้วกาญจนา ที่ใบมีสีและลวดลายแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีชมพู หรือ สีเขียวด่างขาว วางประดับภายในอาคารที่มีแสงน้อยมาก พบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ที่นำเข้าไปไว้ในอาคารต้นไม้จะเกิดสภาวะเครียด โดยจะมีประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เพราะอยู่ในสภาพที่มีแสงจำกัด
“แต่หลังจากนั้น ต้นไม้จะเริ่มมีการปรับตัว โดยในสัปดาห์ที่ 4-8 ต้นไม้จะมีความทนทานต่อสภาพแสงน้อย และสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรก จึงจะเห็นได้ว่าไม่ว่าต้นไม้นั้นจะมีใบสีเขียว แดง ชมพู หรือ ด่างขาว ก็มีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เช่นกัน เพียงแต่ใบสีเขียวจะมีประสิทธิภาพการดูดซับได้สูงกว่าใบสีอื่น ๆ”
สำหรับพืชที่จะช่วยกำจัดสารพิษในอาคารนั้น มีงานวิจัยของ ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตัน (Dr. B.C. Wolverton) ซึ่งเป็นนักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยอวกาศนาซา สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยมาเป็นเวลากว่า 25 ปี จนค้นพบความสามารถ และประสิทธิภาพของไม้ประดับในการกำจัดสารพิษหรือมลพิษในอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็น เบนซิน ฟอร์มาดีไฮด์ แอมโมเนีย ไซลีน ทูลีน รวมทั้งไอเสียที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งต้นไม้ที่ ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตันแนะนำนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพืชในเขตร้อนที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไป แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ถึงคุณสมบัติในการดูดสารพิษของไม้ประดับเหล่านี้
โดยในกลุ่มไม้ประดับที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารได้ดี จากการวิจัย พบว่า ช่วยฟอกอากาศได้ จะเป็น
ว่านห่างจระเข้ เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นไม่สูงมากนัก ใบมีลักษณะอวบน้ำ สีเขียว โคนใบจะมีขนาดใหญ่และจะเล็กเรียวขึ้นไปยังปลายใบ ขอบใบจะมีลักษณะหยักคล้ายกับหนาม เมื่อหักใบดูจะมีลักษณะเป็นวุ้นเมือกหางจระเข้
สาวน้อยประแป้ง มีใบที่ใหญ่ มีทั้งสีเขียวแก่และอ่อน สีเหลืองอ่อน มีลายแต้มสีขาวหรือเหลืองอ่อนบริเวณใบ จึงได้ชื่อว่า สาวน้อยประแป้ง
ยังมี พลูด่าง ซึ่งเป็นไม้เลื้อย สามารถปลูกได้ทั้งในดินและในน้ำ ชอบแสงสว่าง ถ้านำไปปลูกในออฟฟิศก็สามารถใช้แสงหลอดฟลูออเรสเซนต์แทนได้ ที่นิยมคือนำมาใส่แจกันหรือแขวนเป็นระย้า
ยางอินเดีย ลักษณะใบจะหนาปลายแหลมสีเขียวเข้มเป็นมัน ถ้าเกิดมีบาดแผลขึ้นไม่ว่าส่วนใดของลำต้นจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมาทันที
ไทรใบใหญ่ หากปลูกในอาคารให้วางในตำแหน่งที่แสงแดดส่องถึงจะเติบโตได้ดี มรกตแดง เป็นพืชไม้เลื้อย มีใบที่ค่อนข้างใหญ่สีเขียวอมแดงเป็นมัน
กวักมรกต แค่ชื่อก็เป็นมงคลแล้ว สามารถอยู่ได้ในที่แสงน้อย ลักษณะใบเป็นมัน ขยายพันธุ์โดยการแตกกอและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ตีนตุ๊กแกฝรั่ง หรือที่รู้จักกันว่า ต้นไอวี่ สามารถปรับตัวให้อยู่ในที่มีแสงรำไร
ฟิโลใบหัวใจ เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเถาเล็ก มีลักษณะเด่นที่ใบรูปหัวใจสีเขียวสวยงาม
และ เดหลี ใบมีสีเขียวเข้ม มันเป็นเงาวาว ดอกจะเป็นกาบหุ้มช่อดอกสีขาวมีลักษณะคล้ายดอกหน้าวัว
ส่วนไม้ประดับที่มีประสิทธิภาพในการขจัดสารพิษ ช่วยดูดซับสารพิษ 4 ชนิด ซึ่งได้แก่ ฟอร์มาดีไฮด์ ไตรคลอโร-เอทธิลีน เบนซีน และคาร์บอนมอนอกไซด์ ในอาคารได้ดี ประกอบไปด้วยไม้ประดับ 11 ชนิดด้วยกัน คือ
ปาล์มไผ่ เป็นปาล์มที่มีขนาดเล็กเจริญเติบโตช้า ใบมีลักษณะอ่อนช้อย สามารถอยู่ในที่แสงน้อยได้เป็นเวลานาน ๆ
เขียวหมื่นปี เป็นไม้ประดับที่มีใบสวยงาม สีเขียวตลอดทั้งปี สามารถเจริญเติบโตได้แม้อยู่ในที่แสงน้อย มีความทนทานต่อสภาพที่มีความชื้นต่ำได้ดี
นอกจากนี้ ยังมี ตีนตุ๊กแกฝรั่ง และเยอร์บีร่า เป็นไม้ประดับที่คงทนและอยู่ได้นาน ให้ดอกที่มีสีสันสดใส ไม่ว่าจะเป็น สีแดง ส้ม เหลือง ชมพู ขาว
รวมถึง วาสนา จันผาขอบแดง อีกทั้งยังมี วาสนาอธิษฐาน เป็นไม้คงทนอยู่ได้แม้ในที่มีแสงสว่างน้อย ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวเรียวยาวปลายแหลม ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง
ลิ้นมังกร สามารถอยู่ได้นานเป็นเดือนโดยที่ไม่ต้องรดน้ำ เป็นไม้โตช้า
ยังมี เบญจมาศ เป็นไม้ดอกที่มีรูปทรงสวยงาม สีสันสดใส ปลูกเลี้ยงง่าย และมีหลายพันธุ์ให้เลือก ตลอดจนเป็นไม้ดอกที่สามารถจะกำหนดเวลาบานของดอกได้อีกด้วย
เดหลี เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ย ที่คายความชื้น และ วาสนาราชินี ใบเป็นใบเดี่ยวเรียวยาวปลายแหลมที่แตกออกจากลำต้น ส่วนยอดเรียงซ้อนกันเวียนรอบลำต้นเป็นวงกลม ออกดอกเป็นช่อมีทั้งสีขาวหรือเหลืองอ่อน
ผศ.ดร.พัชรียา กล่าวถึงคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพืชให้ฟังว่า พืชแต่ละชนิดมีความสามารถในการดูดซับก๊าซภายในอาคารได้แตกต่างกัน หรือ มีรูปแบบการสังเคราะห์แสงที่ต่างกัน โดยแบ่งพืชได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พืชซีสาม (C3 plant) พืชซีสี่ (C4plant) และพืชแคม (CAM plant)
มีหลักการพิจารณา คือ พืชทั่ว ๆ ไปที่เราเห็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ผัก ส่วนใหญ่จะเป็นพืชซีสาม ส่วนพืชซีสี่ ส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะมีการเปิดปากใบในช่วงกลางวัน เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาจากการ
กระบวนการสังเคราะห์แสง ส่วนในช่วงกลางคืนปากใบจะหรี่ลง พืชจะมีการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากกระบวนการหายใจ
นอกจากไม้ประดับที่ ดร.บี.ซี. วูฟเวอร์ตันได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีไม้ประดับอีกหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคารได้ดี สังเกตได้จากต้นไม้นั้นจะมีการเจริญเติบโตดีในสภาพแสงน้อย
แต่พืชอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า แคม พืชกลุ่มนี้จะเป็นพืชที่ทนแล้ง ขึ้นตามทะเลทราย มีการปรับตัวเพื่อลดการคายน้ำหรือการสูญเสียน้ำออกจากต้น โดยการปิดปากใบเวลากลางวัน และเปิดปากใบเวลากลางคืน เพื่อจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเก็บสะสมไว้ เมื่อรุ่งเช้าเริ่มมีแสง พืชจะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้มาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงต่อไป พืชในกลุ่มนี้ เช่น กระบองเพชร กวักมรกต ลิ้นมังกร สับปะรดสี ว่านหางจระเข้ รวมทั้งกล้วยไม้ที่มีใบหนาบางชนิด เช่น สกุลหวาย แวนด้า ช้าง ม็อคคาร่า ฟาแลนน็อปซิส เป็นต้น
ผศ.ดร.พัชรียา พูดถึงความปลอดภัยว่า ด้วยคุณสมบัติของพืชแคม ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนได้ดี เราจึงสามารถนำต้นไม้กลุ่มนี้มาปลูกภายในอาคาร เช่น ภายในห้องนอน หรือ พื้นที่ที่มีการใช้งานเวลากลางคืน แต่เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงต้นไม้ที่มีหนาม เช่นกระบองเพชร มาวางประดับ
อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ทุกต้นล้วนมีประโยชน์ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้ อย่างน้อยคนละต้น เพื่อช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อม และช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ช่วยสร้างความสมดุลของธรรมชาติได้.
@@@@@
การดูแลรักษาไม้ประดับภายในอาคาร
1. แสง ควรเลือกวางบริเวณที่ได้รับแสงจากทางหน้าต่างหรือประตู เพื่อยืดอายุการวางประดับ หรืออย่างน้อยควรอยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงจากหลอดไฟ ไม่ควรวางต้นไม้ใกล้หลอดไฟมากเกินไป เพราะใบอาจได้รับความเสียหายได้ ในเรื่องของแสง สังเกตได้จากอาการของต้นไม้ ถ้าแสงไม่เพียงพอ ต้นจะยืดยาว ใบมีขนาดเล็กลง ใบล่างเหลืองร่วง เป็นต้น
2. น้ำ ไม่ควรให้น้ำบ่อยเหมือนกับต้นไม้ที่ปลูกนอกอาคาร เพราะพืชจะมีการสูญเสียน้ำที่ค่อนข้างน้อยกว่าการปลูกภายนอกอาคาร การปลูกจึงต้องใช้การสังเกต ไม่ให้วัสดุปลูกเปียกหรือแห้งจนเกินไป อาจให้ประมาณ 2-3 วันต่อครั้ง ขึ้นกับชนิดของพืช หรือใช้นิ้วสัมผัสที่วัสดุปลูกเพื่อตรวจดูความชื้น หลักการ คือ ให้วัสดุมีความชื้นแต่ไม่แฉะ เพราะอาจจะทำให้รากเน่าได้ ในกรณีที่ไม่อยู่บ้าน หรือไปทำงานต่างจังหวัดหลายวัน อาจจะหล่อน้ำไว้ในจานรอง ก็จะช่วยให้พืชได้รับน้ำอย่างต่อเนื่อง
3. ปุ๋ย โดยส่วนใหญ่ต้นไม้ที่วางประดับหรือปลูกภายในอาคาร จะเจริญเติบโตช้า เพราะต้นไม้มีการสังเคราะห์แสงหรือสร้างอาหารได้น้อยลง ดังนั้นจึงควรให้ปุ๋ยในปริมาณที่น้อยกว่าสภาพที่ปลูกภายนอกอาคาร โดยอาจให้ปุ๋ยทางใบ หรือปุ๋ยเม็ดละลายช้า ในปริมาณที่ขึ้นกับชนิดพืชและขนาดกระถางที่ใช้ปลูก เช่น ต้นไม้ปลูกในกระถางขนาด 6 นิ้ว อาจใส่ปุ๋ยเม็ดละลายช้าประมาณครึ่งช้อนชา โดยหยอดหลุมหรือโรยรอบ ๆ ต้นไม้ก็ได้
4. วัสดุปลูก วัสดุปลูกที่เหมาะสมกับไม้ประดับในอาคารควรยึดหลักที่ว่าต้องโปร่ง ระบายน้ำได้ดี มีน้ำหนักเบา อาจใช้กาบมะพร้าวสับมาเป็นส่วนผสมของวัสดุปลูก เพื่อช่วยในเรื่องของการระบายน้ำ และดูดซับความชื้น ไม่ควรใช้ดินเหนียว เพราะมีน้ำหนักมากและระบายน้ำไม่ดี สิ่งที่ตามมา คือ พืชดูดน้ำไปใช้ได้ยาก ทำให้รากเจริญเติบโตได้ไม่ดี เมื่อรากเติบโตได้ไม่ดี ส่วนของต้นก็จะเจริญเติบโตไม่ดีตามไปด้วย