อีเอ็มบอลกู้น้ำเน่า

อีเอ็มบอลกู้น้ำเน่า

นาทีนี้ชาวกรุงเทพมหานครที่น้ำยังท่วมมาไม่ถึงหน้าบ้านก็ยังต้องคอยลุ้นกับสถานการณ์แบบวันต่อวัน

ขณะที่ชาวกรุงเทพฯ บางส่วนต้องเผชิญกับน้ำท่วมขัง  และอีก 21 จังหวัดที่น้ำท่วมมานานร่วม 2 เดือน นอกจากจะต้องกังวลความเสียหายที่เกิดขึ้น แล้วยังต้องเครียดที่ต้องจำทนอยู่กับสภาพน้ำที่เน่าเสียแล้ว....

ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น ทีมคลินิกเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เทพสตรี จ.ลพบุรี

เล็งเห็นถึงการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่น ด้วยการผลิตอีเอ็มบอล (EM ball) หรือจุลินทรีย์ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียและการเกษตร เพื่อปรับสภาพน้ำให้มีความสมดุลและพัฒนาคุณภาพของแหล่งน้ำในเขตชุมชน ป้องกันปัญหามลพิษทางกลิ่น ตลอดจนภัยเกี่ยวกับเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งจะนำโรคติดต่อมาสู่คนได้

ผศ.ธรณี เพ็ชรเสนา รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี มรภ.เทพสตรี

เปิดเผยว่า ขณะนี้ รศ.ดร.กวี ศิริโภคาภิรมย์ อธิการบดี มรภ.เทพสตรี ได้อนุมัติงบประมาณ 10,600 บาท สนับสนุนการทำอีเอ็มบอล ชนิดก้อนกลม จำนวน 20,000 ลูก ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นการผลิตโดยนักศึกษาอาสาสมัครพร้อมด้วยชาวบ้านในชุมชนที่มาร่วมด้วยช่วยกัน สำหรับอีเอ็มบอลที่ผลิตได้ทั้งหมดนั้นจะส่งมอบให้แก่จังหวัดลพบุรี นำไปแจกจ่ายและดำเนินการหย่อนลงแหล่งน้ำเน่าเสียบริเวณบ้านเรือนประชาชนต่อไป


อีเอ็มบอลกู้น้ำเน่า


เพื่อเป็นการวัดประสิทธิภาพของอีเอ็มบอลที่ทำขึ้น ก่อนหน้านี้ทีมงานคลินิกเทคโนโลยีได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างแหล่งน้ำท่วมขังบริเวณหมู่ 4 ต.ท่าแค ชุมชนวัดสำราญ และชุมชนโพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยมีการทดสอบด้วยการหย่อนอีเอ็มบอลลงในแหล่งน้ำดังกล่าว คิดเป็นปริมาตรน้ำในพื้นที่ 10 ตารางเมตรต่ออีเอ็มบอล 1 ลูก จากนั้นจะใช้ระยะเวลา 1 สัปดาห์เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช ซึ่งถูกเพาะอยู่ในลูกอีเอ็มบอลนั้น ทำหน้าที่แปรสภาพน้ำที่เน่าเสียให้กลับมีคุณภาพดีขึ้น

“สาเหตุที่เราต้องมีการตรวจสอบว่าอีเอ็มบอลที่ใช้กับแหล่งน้ำท่วมขังในแต่ละพื้นที่ได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพราะบางแห่งสภาพน้ำอาจมีความใสอยู่บ้างและบางแห่งอาจไม่มีเลย รวมถึงบางจุดมีน้ำท่วมขังสูงและตื้นไม่เท่ากัน ซึ่งทั้งหมดจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีอีเอ็มบอลสามารถลดปัญหาน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่หากผลการทดสอบดังกล่าวออกมาก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจ เนื่องจากมีข้อมูลสำหรับการจัดการกับแหล่งน้ำเน่าเสียในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างได้ผลต่อไป” ผศ.ธรณี กล่าว

สำหรับส่วนผสมอีเอ็มบอลสูตรของ มรภ.เทพสตรี “ผจก.คลินิกฯ” แจงว่า
 
การทำอีเอ็มบอลในแต่ละท้องที่นั้น ไม่ได้มีกรรมวิธีแตกต่างกันมากนัก โดยส่วนประกอบและกระบวนการผลิต ได้แก่ การนำรำข้าวละเอียด ทราย และดินร่วน มาผสมรวมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน อย่างละ 1 กิโลกรัม จากนั้นให้นำภาชนะบรรจุสำหรับส่วนผสมกากน้ำตาล 4 ช้อนโต๊ะ (60 ซีซี) หัวเชื้ออีเอ็ม 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซีซี) นำมารวมกันแล้วละลายด้วยน้ำกรองที่ปราศจากสารคลอรีน ปริมาตร 500 ซีซี จากนั้นจึงนำไปคลุกเคล้ากับส่วนผสมแรกเพื่อปั้นเป็นลูกบอลขนาดเท่ากำมือ หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 63 กรัม

ทั้งนี้ในส่วนที่ต้องสังเกตให้ดีคือเรื่องของน้ำ ซึ่งหากใช้น้ำประปาจะทำให้มีคลอรีนผสมกลายเป็นตัวฆ่าจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ทำให้อีเอ็มบอลหมดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ดินร่วนที่นำมาเป็นส่วนผสมหากเป็นดินที่มีคุณภาพดี จุลินทรีย์เยอะก็จะยิ่งทำให้อีเอ็มบอลใช้งานได้อย่างดียิ่งขึ้นด้วย
และเมื่อปั้นส่วนผสมเสร็จเรียบร้อยให้ทิ้งไว้นาน 5-15 วัน ก่อนบรรจุใส่ถุง จากนั้นจะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน 4-5 เดือน

หมู่บ้านใดที่ประสบกับภาวะน้ำท่วมขังเน่าเสีย สามารถติดต่อปรึกษาและขอความรู้ในการแก้ปัญหาได้ที่ คลินิกเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.เทพสตรี
 
โทร. 0-3642-7485-93 และหากชุมชนใดประสงค์จะให้วิทยากรลงพื้นที่ผลิตอีเอ็มบอลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทันทีก็สามารถแจ้งได้ เพราะทางมหาวิทยาลัยมีวัตถุดิบสนับสนุนการผลิต อาทิ รำข้าวละเอียดและหัวเชื้ออีเอ็ม พร้อมกันนี้ อาจารย์ มรภ.เทพสตรี ยังฝากเตือนสำหรับประชาชนที่ลองทำใช้เองให้ระมัดระวังเรื่องความสะอาด ควรล้างมือทุกครั้งเพื่อไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกาย แม้จะไม่เป็นอันตรายแต่ปลอดภัยไว้ก่อนเป็นดี.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์