การเป็นตะคริวไม่มีอันตรายถึงชีวิต เว้นแต่เป็นตะคริวระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ แต่ทางที่ดีควรรู้จักและรู้วิธีป้องกันไว้เพื่อความปลอดภัย
นานาสาเหตุของตะคริว
สาเหตุการเกิดตะคริวยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าเมื่อร่างกายขาดน้ำ หรือออกแรงมากเกินไป ก็มักจะเกิดตะคริว เพราะทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้เซลล์ทำงานผิดปกติตามไปด้วย โดยการปรวนแปรของเกลือแร่เกิดขึ้นได้เพราะร่างกายมีปริมาณเกลือแร่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ซึ่งเกลือแร่ที่ส่งผลต่อการเป็นตะคริวก็ได้แก่ โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม
รวมถึงยังพบว่า การไม่ขยับเขยื้อนร่างกายเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งอยู่กับที่ หรือการนอนอยู่บนเตียง ก็ทำให้เป็นตะคริวได้เช่นกัน
นอกจากนี้โรคบางอย่างก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้ เช่น เบาหวาน พาร์กินสัน ไทรอยด์ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจาง โรคในระบบต่อมไร้ท่อ และยาบางชนิด ยกตัวอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น
ตะคริวที่มักพบในผู้สูงอายุ
หลักๆ จะมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่
ตะคริวขา
ซึ่งเป็นตะคริวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ากล้ามเนื้อบริเวณลำขามีการหดตัวอย่างแรงและทันที มักเป็นช่วงสั้นๆ คือไม่ถึง 1 นาทีอาการก็หายไป ยกเว้นบางทีที่อาจจะเป็นอยู่หลายนาทีได้เหมือนกัน ตะคริวขามักเกิดระหว่างการออกกำลังกายทั่วๆ ไป ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักมากยิ่งมีโอกาสการเป็นตะคริวขาสูง
ตะคริวแดด
มักเกิดกับผู้ที่เสียเหงื่อมากๆ เช่น ผู้ที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อน (มักเป็นในช่วง 2-3 วันแรก สำหรับผู้ที่เริ่มทำงานกลางแจ้ง โดยไม่เคยทำมาก่อน) หรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักๆ โดยอาจเกิดขึ้นในระหว่างออกกำลังกาย หรือหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้ว 2-3 ชั่วโมงก็ได้ ตะคริวมักเกิดบริเวณน่อง ต้นขา และไหล่ สามารถป้องกันได้โดยการได้รับเกลือแร่ที่เพียงพอ จากอาหารหรือน้ำดื่มเกลือ แต่ไม่ควรรับประทานเกลืออัดเม็ด เพราะอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
ตะคริวกลางคืน
แน่นอนว่ามักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนขณะนอนหลับ โดยมีโอกาสเกิดขึ้นบริเวณหลังเท้าได้ด้วย อาการตะคริวจะกินเวลา 2-3 วินาที แต่บางรายอาจกินเวลานานกว่านั้น เช่น เป็นนานถึง 10 นาที ซึ่งในกรณีนี้จะมีอาการปวดด้วย ส่วนสาเหตุก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป การยืนหรือนั่งนานๆ ภาวะร่างกายขาดน้ำ รวมถึงการวางขาที่ไม่เหมาะสมระหว่างนั่งก็ทำให้เกิดตะคริวขาระหว่างนอนได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน พาร์กินสัน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจาง ไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ ก็อาจทำให้เป็นตะคริวขาตอนกลางคืนได้เช่นกัน แต่พบน้อย โดยอาการจะดีขึ้นหากได้เดินหรือเคลื่อนไหว
10 วิธีป้องกันตะคริว
ผู้สูงอายุสามารถป้องกันตะคริวไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังนี้
1. ดื่มน้ำ 6-8 แก้วทุกวัน เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งนำไปสู่การเป็นตะคริว
2. ยืด เหยียดขาระหว่างวัน และเวลากลางคืน
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดกับผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายและผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ โดยอาจออกกำลังกายเบาๆ ที่ได้ขยับขาประมาณ 2-3 นาทีก่อนนอน เช่น การปั่นจักรยาน
4. เวลาห่มผ้าอย่าให้ผ้าตึงเกินไป ควรห่มแบบหลวมๆ ไว้ ผ้าห่มจะได้ไม่ไปกดขาและเท้า ซึ่งส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงขาไม่สะดวก
5. ระหว่างออกกำลังกายควรดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
6. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
7. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น ปลา เต้าหู้ หรืออาหารที่มีแมกนีเซียม เป็นต้น
8. ฝึกยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ เช่น หากต้องการป้องกันตะคริวที่น่องให้กระดกเท้าขึ้นลง หรือเอาปลายนิ้วมือแตะปลายเท้า
9. หลีกเลี่ยงอากาศเย็น เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง
10. สวมรองเท้าที่เหมาะสมและอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งเท้า
ทำอย่างไรเมื่อตะคริวมาเยือน
เมื่อเป็นตะคริวแล้ว วิธีปัดเป่าให้ตะคริวหายไปอาจทำได้โดย
1. เดินหรือขยับขา
2. เหยียดขาไปตรงๆ และกระดกเท้าให้ปลายเท้าหันเข้าหาลำตัว ห้ามกระตุกหรือกระชากอย่างรุนแรงและเร็ว เพราะกล้ามเนื้ออาจจะฉีกขาดได้หรือทำให้เจ็บ หรืออาจจะดึงนิ้วเท้าเข้าหาลำตัว (คล้ายการหักนิ้ว) โดยอาจจะทำจนกระทั่งตะคริวหายไป
3. อาบน้ำอุ่น ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
ท่าออกกำลังกายคลายตะคริว
ท่าออกกำลังกายไม้ตายที่จะช่วยบำบัดตะคริวกินขาตอนกลางคืน สามารถทำได้ที่บ้านทุกวัน โดยมีวิธีการ ง่ายๆ ดังนี้
1. เริ่มจากให้ยืนห่างจากฝาผนัง โดยให้ฝ่ามือสามารถแตะผนังได้อย่างสุดแขน
2. ระหว่างที่ยืน เอาฝ่ามือแปะลงบนผนัง จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนฝ่ามือทั้งสองข้างไต่ผนังให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าน่องและแขนตึง จากนั้นค้างไว้ 30 วินาที
3. ทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง
ฝึกเอาไว้ เพื่อจะได้ปัดเป่าตะคริวให้ห่างไกลจากชีวิตของเรา
ที่มา .... HealthToday
ช่วยด้วยตะคริวกิน
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!