คู่มือ!! รู้เท่าทัน เทศกาลตรุษจีน

คู่มือ!! รู้เท่าทัน เทศกาลตรุษจีน


ในที่สุด หลังจากปีใหม่สากลที่ผ่านพ้นไป ยังไม่ทันได้หายใจ ก็จะถึงเทศกาลปีใหม่จีน หรือที่เรียกกันว่า "วันตรุษจีน" กันแล้ว โดยตรุษจีนครั้งนี้จะตรงกับวันที่ 23 มกราคม 2555 ไทยรัฐออนไลน์นำเสนอที่มาของการไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงการรวบรวมสถานที่ไหว้เจ้ายอดนิยมในกรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลตรุษจีน มาให้ผู้อ่านได้วางแผนการไหว้เจ้าช่วงเทศกาลมงคลในครั้งนี้อย่างง่ายดาย

หนึ่งในธรรมเนียมที่อยู่ใน 3 วันแห่งความสุข เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนแล้ว ก็คือการไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งถือว่าเป็นการไหว้ตามธรรมเนียม และความเชื่อของคนจีน ที่ต้องไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้พี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการไหว้ของคนจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีชื่อเรียกว่า"ง่วงตั้งโจ่ย" ซึ่งแปลว่า เทศกาลเริ่มต้น และถือเป็นการไหว้ครั้งแรกประจำปี ซึ่งใน 1 ปี คนจีนจะไหว้เจ้าทั้งหมด 8 ครั้ง โดยมีคำภาษาจีนเรียกว่า "โป้ยโจ่ย" ซึ่งแปลตรงตัวว่า 8 เทศกาล มีจุดประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญสู่ครอบครัว โดยช่วงเทศกาลตรุษจีน จะแบ่งวันออกเป็น 3 วัน คือ


คู่มือ!! รู้เท่าทัน เทศกาลตรุษจีน


1. วันจ่าย เรียกว่า "ตื่อเส็ก" เป็นวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู้เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับสักการะบูชาของเจ้าบ้าน


2. วันไหว้ หรือวันสิ้นปี มีการไหว้ 3 ครั้ง
 ตอนเช้ามืดจะไหว้ "ไป๊เล่าเอี๊ย" เป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ตอนสายจะไหว้ "ไป๊เป้บ๊อ" หรือการไหว้บรรพบุรุษ ตอนบ่ายไหว้ "ไป๊ฮ้อเฮียตี๋" เป็นการไหว้พี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว


3. วันขึ้นปีใหม่ หรือวันเที่ยว หรือวันถือ คือวันที่ 1 ของเดือนที่ 1 ของปี หรือ"ชิวอิก" โดยมีการไหว้เทพเจ้า "ไฉ่สิ่งเอี้ย" ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ 
และความพิเศษของวันตรุษจีนในปี 2555 คือเป็นวันที่ตรงกับ"วันขอเงินจากพระจันทร์"ซึ่งเป็นวันที่มีความเชื่อว่า ถ้าขอเงินจากพระจันทร์ ในวันขอเงินจากพระจันทร์แล้ว จะสมหวังตามสิ่งที่ขอ ซึ่งนับว่าโชคดีจริงๆ


คู่มือ!! รู้เท่าทัน เทศกาลตรุษจีน


วัดศักดิ์สิทธิ์ขอสิริมงคล !

สำหรับสถานที่ยอดนิยมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่ไหว้เจ้าที่เด่นที่สุด มีทั้งหมด 5 สถานที่ ในกรุงเทพมหานคร มีดังต่อไปนี้


1. วัดมังกรกมลาวาส
 หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ วัดยอดนิยมของคนไทยเชื้อสายจีน มีชื่อเล่นว่า "วัดมังกร" เพราะคำว่า "เล่ง" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่ามังกร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2414 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี จึงแล้วเสร็จ


มีจุดเด่นคือ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบทางจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว วางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า ใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุในการก่อสร้างเป็นหลัก

วิธีไหว้พระในวัดมังกรกมลาวาส ให้จุดธูปทั้งหมด 18 ดอก โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านนอกใช้ 12 ดอก ด้านในใช้ 6 ดอก 1.หน้าวัด 2 กระถาง ใช้ 6 ดอก 2.ในโรงเจ 1 กระถาง ใช้ 3 ดอก 3.ต้นโพธิ์ 1 กระถาง ใช้ 3 ดอก 4.พระประธาน 1 กระถาง ใช้ 3 ดอก 5.ไท่ส่วยเอี๊ย 1 กระถาง ใช้ 3 ดอก


วัดมังกรกมลาวาส ตั้งอยู่ที่ 423 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100 โทร 02-222-3975 , 02-226-6553 การเดินทางใช้รถสาย 4 , 7 , 25 , 21 , 529 , 85 , 507 , 1 , 53 , 204 , 35 , 40 , 48


2. วัดทิพย์วารีวิหาร
 หรือ วัดกัมโล่วยี่ สร้างในปี พ.ศ. 2319 สมัยกรุงธนบุรี

ลักษณะเป็นศาลเจ้าจีน มีพระพุทธรูปทองขนาดใหญ่ 3 องค์ จุดเด่นคือวัดนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือบ่อน้ำทิพย์อยู่ อันเป็นที่มาของชื่อ วัดทิพยวารีวิหาร

วัดทิพย์วารีวิหาร ตั้งอยู่ที่ 119 ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร เขตพระนคร (บ้านหม้อ) กรุงเทพฯ 10200 โทร. 02-222-5988 การเดินทางใช้รถสาย 1 , 25 , 507


3. ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วยอดนิยม และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง คนจีนเรียกว่า ตั๋วเล่าเอี้ย โดยในศาลเจ้า จะประดิษฐาน เฮี้ยงเทียนเซียงตี่, รูปเจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม โดยลักษณะอาคารสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน จุดเด่นคือ เทพเจ้าประจำศาล "เสียนเทียนซั่งตี้" หรือที่คนไทยเรียกว่า "เจ้าพ่อเสือ" อันเป็นที่มาของชื่อศาลเจ้าพ่อเสือนั่นเอง


คู่มือ!! รู้เท่าทัน เทศกาลตรุษจีน


วิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ ไหว้ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง ส่วนการเซ่นไหว้ ต้องใช้เครื่องเซ่น ซึ่งประกอบด้วย หมูสามชั้น ไข่สด และข้าวเหนียวหวาน


ศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ในบริเวณที่ตัดกับถนนอุนากรรณ ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โทร 02-224-2110 การเดินทางใช้รถสาย 12 , 42 , 59 , 44 , 511 , 509 , 157 , 79 , 503 , 78


4. ศาลเจ้าเง็กฮกตึ๊ง (เจ้าพ่อเห้งเจีย)
 คงไม่มีใครไม่รู้จัก ซุนหงอคง 1 ในตัวละครเอกในวรรณกรรมชุด “ไซอิ๋ว” เป็นแน่นอน เพราะถือว่าดังมากพอสมควรในเอเชีย ซึ่งตำนานของเจ้าพ่อเห้งเจียถือว่าเป็นจุดเด่นของศาลแห่งนี้เลยก็ว่าได้ โดยเป็นเทพผู้ประทานความสุขและเป็นผู้กำจัดเหล่าปิศาจร้าย ชนชาวจีนจึงนิยมกราบไหว้และบูชามาก ทำให้ปัจจุบันศาลเจ้าหลายแห่งจะมีรูปเคารพของเทพวานร หรือเจ้าพ่อเห้งเจีย เพื่อไว้ให้คนที่เลื่อมใสศรัทธามีโอกาสเข้าไปสักการะขอพร


ศาลเจ้าเง็กฮกตึ๊ง ตั้งอยู่ที่สวนผัก ตลิ่งชัน ซอย 19 กรุงเทพฯ โทร. 02 435-1143, 02 8842522-3 การเดินทางใช้รถสาย 123 , 124 , 127 , 507 , 511 , 515 , 539 , 28 , 146 ,170 , 149 ,172


5. ศาลเจ้าพ่อกวนอู
 ศาลใหญ่ประจำตลาดเยาวราชเก่า มีชื่อเล่นว่า “ศาลเจ้าพ่อม้า” ซึ่งจุดเด่นคือในศาลเจ้าพ่อกวนอู จะประดิษฐานรูปปั้นของท่าน และด้านข้างมีรูปปั้นเทพเจ้าม้า (เบ๊เอี๊ย) เซ่นไหว้รูปม้าพร้อมกับเขย่าลูกกระพรวน ซื้อผักให้เทพเจ้าม้า และถวายของไหว้ได้ ณ ศาลแห่งนี้


การเซ่นไหว้ศาลเจ้าพ่อกวนอู สามารถใช้เป็ด ไก่ หมู ซาแซ ได้ เพราะเจ้าพ่อกวนอูไม่กินเจ ส่วนเจ้าพ่อม้า แนะนำให้ใช้ผักบุ้ง และผักกาดหอม


ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตั้งอยู่ที่โรงโดม ซอยอิสรานุภาพ ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ การเดินทางใช้รถสาย 4 , 53 (เข้าเยาวราช) 73 , 40 ,507 , 529 , 542 , 7 , 21

คู่มือรู้เท่าทันเตรียมตัวก่อนทัวร์ไหว้


สุดท้ายแนะนำว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีน จะเป็นช่วงที่มีคนเข้าไปร่วมกิจกรรมกันมากในแต่ละที่ จึงขอแนะนำสำหรับผู้ต้องการไหว้เจ้า ให้หาซื้อของเตรียมไว้ล่วงหน้า เพราะของที่ขายตามหน้าวัด และหน้าศาลเจ้าอาจมีราคาแพงกว่าปกติ หรืออาจไม่สามารถหาซื้อได้ โดยแนะนำให้หาซื้อสินค้าที่เยาวราช เพราะเป็นแหล่งรวมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลอื่น ๆ มากมาย ทั้งอาหาร เครื่องเซ่นไหว้ รวมไปถึงซองอั่งเปา ที่นิยมให้กันในวันตรุษจีน ก็สามารถหาซื้อได้เช่นกัน

สุดท้าย ขอให้มีความสุขในวันตรุษจีนนะครับ ซินเจียยู้อี่ ซินนี้ฮวดไช้...!!


ที่มา : www.thairath.co.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์