ข่าวพาดหัวกรณีเด็กน้อยวัยกำลังน่ารักถูกทิ้งไว้ในรถแค่พักเดียวเพราะผู้เป็นพ่อแม่ออกไปทำธุระแล้วกลับมาลูกน้อยก็นอนหมดลมหายใจในสภาพที่สุดทรมาน หรือจะเป็นการทิ้งสัตว์เลี้ยงพวกหมาแมวไว้ในรถจนหมดลมหายใจและตายคาที่ เป็นเรื่องสำคัญที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เผยความอันตรายประการหนึ่งของการลืมชีวิตไว้ในรถ ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ก็มีอันตรายมหาศาล เนื่องจากความร้อนจากในรถเปรียบได้กับเตาอบเพราะเป็นปรากฏการณ์เรือนกระจกที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเวลาผ่านไป ไม่กี่นาทีก็ทำให้พลาสติกละลายได้
ดังนั้นความตายในรถเกิดได้จาก “ความร้อน” หาใช่การขาดอากาศ และตายจากร้อนนี่ทรมานมาก เพราะในเด็กและสัตว์นั้นจะเกิดภาวะ “ช็อคร้อน (Heat stroke)” ได้ง่าย ทำให้เป็นลมตาย ชักเกร็ง น้ำลายฟูมปาก
อย่างไรก็ตาม นพ.กฤษดา แนะหลักป้องกันช็อคร้อนจนเสียชีวิตคารถ เริ่มจาก “ใช้รถยนต์เพื่อขับขี่เป็นหลัก” ขอให้คิดว่าการใช้อยู่อาศัยและนอนหลับแทนบ้านนั้นเป็นวัตถุประสงค์รอง ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าถึงอย่างไรรถยนต์ทั่วไปไม่ได้ทำไว้ให้ใช้เป็นที่พักอาศัย
“อย่าทิ้งลูกหรือสัตว์เลี้ยงไว้ลำพังในรถไม่ว่ากรณีใดๆ” เพราะในเด็กเล็กหรือสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องอาจเผลอไปกดปุ่มล็อครถอัตโนมัติเองแล้วทำให้ไม่มีใครเข้าไปช่วยได้ แต่หากจำเป็นจริงๆ “ลดกระจก” ให้ลดกระจกลงมาข้างละนิดเพื่อระบายอากาศและความร้อน แล้วก็ต้องแน่ใจว่าคนที่อยู่ในรถมีวุฒิภาวะเพียงพอ
นอกจากนี้ “อย่าทิ้งของกินไว้ในรถที่ร้อนจัด” โดยเฉพาะขวดน้ำพลาสติกและขนมที่บูดเสียง่าย ในรถที่มีความร้อนสูงจะทำละลายเคมีพิษในพลาสติกออกมา(Xenoestrogens) เมื่อเวลารับประทานเข้าไปจะได้เต็มๆ
อีกยั้ง “อย่าติดฟิล์มกรองแสงให้มืดนัก” เผื่อมีคนผ่านมาจะได้เห็นเหตุฉุกเฉินและเข้ามาช่วยได้ทัน ดังนั้นเวลาติดฟิล์มรถยนต์นอกจากคิดเพียงเรื่องความเย็นสบายและความเป็นส่วนตัว ขอให้นึกถึงกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย
และ “รู้วิธีปฐมพยาบาล” เมื่อเกิดอันตรายขึ้นแล้ว วิธีปฐมพยาบาลในกรณีที่ช็อคจากความร้อน(Heat stroke)คือ เปิดหน้าต่างและทำให้อากาศรอบข้างระบายถ่ายเทได้ดีที่สุด คลายชุดให้หลวมแล้วหาผ้าขนหนูชุบน้ำมาเช็ดใบหน้า, ศีรษะ(โดยเฉพาะในเด็ก) และตามหลอดเลือดใหญ่ อย่าง ซอกคอ, แขนและขา อย่าป้อนน้ำในขณะยังไม่ได้สติดี เพราะจะยิ่งทำให้มีอันตรายจากการสำลักมากขึ้นนั่นเอง.