ร่างกายของคนเรามีวันเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เห็นได้จากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่ทนทานเหมือนกับช่วงวัยหนุ่มสาว เรื่องนี้ แพทย์หญิงลิลลี่ ชัยสมพงษ์ แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บรรยายไว้ในงานส่งเสริมสุขภาพ เฮลธี 50 พลัส
โดย แพทย์หญิงลิลลี่ เผยว่า เมื่อสูงวัยขึ้น ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพลง ที่เห็นได้ชัดเจน คือ สายตา มักพร่ามัว ปรับตัวช้า, สมอง ประมวลผลช้า สมองฝ่อ, ระบบทางเดินอาหาร ย่อยช้า, ผิวหนัง มีริ้วรอย หย่อนยาน, และข้อกับกระดูก ยังอาจเสื่อม บาง และมีภาวะกระดูกพรุน
ส่วนโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุนั้น แพทย์หญิงลิลลี่ ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ไว้ 2 กลุ่ม เริ่มจากกลุ่มของโรคที่แก่แล้วเป็นคือ ป่วยเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ วัยชรา ประกอบด้วย สมองเสื่อม, กระดูกพรุน, ข้อเสื่อม, และทางเดินปัสสาวะมีปัญหา
ขณะที่อีกกลุ่ม เรียกว่า โรคเป็นแล้วแก่ คือ ไม่ต้องรอให้เข้าสู่วัยสูงอายุก็ป่วยได้ แต่เมื่อป่วยแล้วจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม หรือแก่เร็วกว่าวัย ซึ่งจำเป็นต้องระวัง โรคเหล่านั้นประกอบด้วย เบาหวาน, มะเร็ง, และโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด อาทิ หลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิต และหลอดเลือดสมอง
เคล็ดลับการป้องกันโรคเป็นแล้วแก่ แพทย์หญิงลิลลี่ แนะนำว่า อย่าสูบบุหรี่ อย่าปล่อยตัวให้อ้วน และอย่าเครียด โดยต้องออกกำลังสม่ำเสมอ ควบคุมไขมันในหลอดเลือดและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้ แพทย์หญิงลิลลี่ ยังบอกด้วยว่า คนสูงอายุทั่วไปในสังคมมักมี 2 โรคแอบแฝงอยู่ โรคแรกคือ กระดูกพรุนเป็นการเปราะบางลงของกระดูกตามอายุ มักไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอุบัติเหตุลื่นหกล้มแล้วกระดูกหักง่าย โรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้หลายอย่าง ตั้งแต่บริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์บ่อย โครงสร้างเล็ก ประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน และหญิงวัยหมดประจำเดือน
สำหรับการป้องกันกระดูกพรุนที่ดีที่สุด คือ ควรบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ถ้าสูงวัยแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายอย่างที่ต้องกระโดดมากๆ
ส่วนโรคแอบแฝงอีกโรค คือ โรคสมองเสื่อม ที่มีสัญญาณเตือนดังต่อไปนี้...ลืมจนกระทบชีวิตประจำวัน, มีปัญหาในการวางแผน แก้ไขปัญหา หรือคิดอะไรซับซ้อนไม่ได้, เริ่มมีปัญหาในการทำกิจกรรมที่คุ้นเคย, เกิดความสับสนเกี่ยวกับสถานที่และเวลา, มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การใช้ภาษา, มีปัญหาเกี่ยวกับการมองรูป หรือภาพหลายมิติ, หาของไม่เจอ หรือทำของหาย เพราะจำไม่ได้, การตัดสินใจ หรือประเมินสถานการณ์ผิดพลาด, มีปัญหาในการทำงาน การเข้าสังคม, และอารมณ์แปรปรวน นิสัยเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม หากพบว่า ตนเองเป็นผู้สูงอายุที่เข้าข่าย หรือแม้กระทั่งคนใกล้ชิดมีสัญญาณเตือนโรคสมองเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม ส่วนการดูแลตนเองในเบื้องต้น พยายามอย่าอยู่คนเดียว เพราะมักนำมาซึ่งความรู้สึกหดหู่ ใช้ธรรมมะยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อสุขภาพจิตที่ดี เมื่อสุขภาพจิตดี ย่อมส่งผลให้อายุยืนยาวด้วย
ไม่ว่าจะโรคที่แก่แล้วเป็น โรคที่เป็นแล้วแก่ หรือโรคแอบแฝง บางโรคอาจจะไม่มีใครหนีพ้น แต่ในทุกๆ วัน ก็ยังสามารถดูแลสุขภาพ เพื่อให้ความเสื่อมที่รอจะเกิดขึ้นในช่วงสูงวัยนั้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตน้อยที่สุด.