อย่าให้กีฬากลายเป็นยาพิษ
โลกยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้เราได้ดูกีฬาสดๆ ระดับโลกมากมาย เลยทำให้พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกตัวเองเก่งกล้าสามารถ เช่น เล่นเทนนิสดีอย่างนาดาล เฟดเดอเรอร์ ยอโควิช หรือภราดร ไม่ก็เล่นกอล์ฟเก่งอย่างไทเกอร์ วูด เล่นฟุตบอลเก่งและมีรายได้มหาศาลอย่างเบ็คแค่ม เลี้ยงบอลคล่องแคล่วแพรวพราวอย่างไลโอเนล เมสซี่ ก็เลยผลักดันให้ลูกเล่นกีฬา โดยที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ที่อาจจะทำให้ลูกของเราเสียคนได้
เนื่องจากเยาวชนเป็นผู้ที่กำลังเจริญเติบโต พวกเขาจึงยังไม่เติบโตแข็งแรงเต็มพิกัดทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการฝืนออกกำลังกายมากๆ หรือเล่นแรงมากๆ เพราะอยากจะเอาแต่ชนะอย่างเดียว อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งทางกายและใจจนกลายเป็นผลเสียระยะยาวกับเด็กมากกว่า เช่น เยาวชนที่ฝึกซ้อมหรือเล่นกีฬามาก หรือแรงเกินไป อาจพลาดท่าทำให้เกิดการบาดเจ็บของ epiphysis (อ่านว่าอีปิไฟสิส) คือ บริเวณของกระดูกที่มีเซลล์ทำหน้าที่แบ่งตัวงอกกระดูก โดยบริเวณที่บาดเจ็บแบบนี้ได้บ่อยๆ ก็อย่างเช่น บริเวณโหนกหน้าแข้งใต้สะบ้าหัวเข่า (แพทย์เรียกว่าโรค Osgood-Schlatter disease) หรือการบาดเจ็บที่กระดูกส้นเท้า (Sever’s disease) ซึ่งมีผลเสียต่อการงอกของกระดูก
นอกจากนี้การซ้อมมากๆ หรือการทำท่าใดท่าหนึ่งซ้ำๆ กันมากเกินไป อาจจะทำให้มีการฉีกขาดบาดเจ็บของร่างกายส่วนนั้นได้มาก เช่น นักเบสบอลที่ขว้างลูกมากๆ อาจเกิดการบาดเจ็บที่ไหล่ การตีเทนนิสมากๆ อาจจะทำให้ข้อศอกอักเสบ หรือการตีลูกท็อปสปินมากๆ อาจทำให้ข้อมืออักเสบ
การบาดเจ็บอีกแบบหนึ่งจะเกิดจากการกดซ้ำๆ มากๆ เช่น กระดูกเท้าของนักกีฬาที่วิ่งมากๆ อาจจะร้าวจากความเครียด (stress fracture) ดังเช่นที่ตีนทองของเบ็คแค่มเคยร้าวที่กระดูกกลางเท้า (metatarsal) ก่อนแข่งฟุตบอลโลกปี 2006 มาแล้ว จนทำให้ชื่อกระดูกนี้เป็นที่รู้จักของชาวโลกมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้สมาคมโรคเด็กสหรัฐอเมริกันจึงกล่าวว่า การส่งเสริมการเล่นกีฬาของเยาวชนควรมุ่งหวังแต่เพียงให้เด็กติดนิสัยดีๆ คือ การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในระยะยาวตลอดชีพ ไม่ใช่เล่นแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อการเป็นแชมป์โลก หรือเพื่อชิงทุนการศึกษาตามใจพ่อแม่ หรือต้องเปลี่ยนชนิดกีฬาที่เล่นไปเรื่อยๆ เพื่อหาว่าเล่นกีฬาชนิดไหนได้ดี
นอกจากนี้สมาคมนักฝึกกีฬาสหรัฐอเมริกา ( US National Athletic Trainers’ Association) ยังได้ออกคำแนะนำเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากกีฬา ดังนี้
- ควรให้เด็กได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เสียก่อนการเริ่มเล่นกีฬาไม่ว่าชนิดใด โดยเริ่มแรกพ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องให้ประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กตามแบบฟอร์มที่ให้กรอก เพื่อแพทย์จะได้รู้ว่า เด็กมีปัญหาทางกายใจอย่างไรหรือไม่ เช่น มีโรคหัวใจหรืออาการของโรคหัวใจหรือไม่ มีโรคหอบหืด หรือมีปัญหาทางสายตาหรือไม่
- นอกจากนี้แพทย์จะตรวจความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความสมดุลของการยืนเดิน ความมั่นคงของข้อ ความสามารถในการเคลื่อนไหวเต็มที่ของข้อ ท่าทางในการยืนหรือเดินอีกด้วย (ว่ามีหลังงอหรือไม่) เพราะเด็กที่จะฝึกหัดเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมาก จึงควรเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงเป็นทุนเริ่มต้น
- การตรวจพบความบกพร่องทางร่างกายไม่ใช่ข้อห้ามในการฝึกเล่นกีฬา แต่ในบางกรณีอาจจะทำให้มีโอกาสแก้ไขร่างกายส่วนนั้นให้พร้อมเสียก่อนที่จะไปฝึกเล่นกีฬาที่มันหนักๆ เช่น การเล่นอเมริกันฟุตบอลหรือรักบี้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็จะเข้าไปเล่นเพื่อความมันเลย
- ในกีฬาบางอย่างอาจจะจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการฝึกเพื่อลดการบาดเจ็บในเด็ก เช่น ในกีฬาวิ่งอาจจะต้องจำกัดระยะทางในการวิ่ง เพื่อไม่ให้มากเกิน หรือสำหรับกีฬาขี่จักรยาน สมาคมจักรยานแห่งสหรัฐอเมริกา ( US Cycling Federation) ก็มีการควบคุมการใช้อัตราส่วนเกียร์รถของเด็กอายุ 10-12 ปี ให้ต่างจากผู้ใหญ่ ส่วนสมาคมว่ายน้ำก็ให้คำแนะนำเกี่ยวกับระยะทางที่จะว่ายน้ำใน 1 สัปดาห์สำหรับการซ้อมเพื่อแข่งขัน ส่วนที่ออสเตรเลียสมาคมนักวิ่งก็มีการกำหนดระยะทางวิ่งแข่งขันของเด็กอายุ 12-18 ปี และกำหนดให้สนามที่ใช้ในการเล่นอเมริกันฟุตบอลของเด็กมีขนาดเล็กกว่าของผู้ใหญ่ รวมถึงกำหนดให้ระยะทางระหว่างเบสในกีฬาเบสบอลของเด็กสั้นกว่าผู้ใหญ่ (แต่ไม่จำกัดในกีฬาบาสเก็ตบอล)
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือ เยาวชนสมัยนี้มีความฟิตของร่างกายน้อยกว่าเด็กสมัยเก่า เพราะกิจกรรมที่ทำมักจะไม่ค่อยต้องมีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การนั่งอยู่หน้าจอจ้อทางเฟซบุ๊ก ไฮไฟฟ์ ทำให้ร่างกายขาดความฟิต ประกอบกับกีฬาส่วนมากมักเล่นเป็นฤดูกาล ด้วยเหตุนี้ แม้แต่เด็กที่เป็นนักกีฬาตัวจริงของโรงเรียนก็ยังประมาทไม่ได้ ต้องมีการฝึกฟิตซ้อมร่างกายเสียก่อน ก่อนลงเล่นฟุตบอล บาสเก็ตบอล เพราะแม้แต่นักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก่อนจะเริ่มฤดูกาลแข่งขัน เขายังมีการอุ่นเครื่องเล่นแมทช์กระชับมิตรตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก (แถมได้ขายตั๋วเก็บเงินด้วย) แล้วตามด้วยการฟิตซ้อมเต็มพิกัดก่อนเปิดฤดูกาล ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะไปเล่นหนักๆ เลย โดยสมาคมนักฝึกสอนกีฬาต่างก็แนะนำให้มีการฟิตซ้อมเป็นเวลา 2 เดือนก่อนเล่นจริง
สำหรับการฟิตซ้อมควรประกอบด้วยการฟิตความอดทนทั่วไปของร่างกาย เช่น ออกไปวิ่งจ๊อกกิ้งเพื่อให้ระบบหัวใจแข็งแรง ร่างกายมีการยืดหยุ่นที่ดี กล้ามเนื้อมีความแข็งแกร่ง โดยค่อยๆ เพิ่มความแรงหรือเพิ่มระยะทางในการซ้อมประมาณ 10% ต่อสัปดาห์ จากนั้นจึงทำการฟิตซ้อมเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับกีฬานั้นๆ เช่น ถ้าต่อยมวยก็ต้องซ้อมการต่อยกระสอบทราย พั้นชิ่งบอล ฟุตเวิร์ก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ (ต้านการน๊อกเอาท์) การเล่นเทนนิสก็ต้องซ้อมตีให้ครบทุกลูกที่เล่น ไม่ว่าจะเป็นลูกท้ายคอร์ต การวอลเล่ย์ แบ๊กแฮนด์ โฟร์แฮนด์ ครอสคอร์ต ขนานเส้น ลูกตบ ลูกเสิร์ฟ
นอกจากนี้สมาคมนักฝึกสอนกีฬาอเมริกันยังให้แนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กเน้นกีฬาใดกีฬาหนึ่ง โดยเฉพาะตอนที่พวกเขายังเป็นเด็กมาก แต่ควรให้เล่นกีฬาทั่วๆ ไม่เฉพาะเจาะจงก่อน ให้เล่นสนุก ๆ ให้รักการกีฬา เล่นกีฬาเป็นนิสัย เป็นชีวิตจิตใจ และเพื่อพัฒนาให้ร่างกายแข็งแรง กระตุ้นระบบประสาทตา มือ แขน ขา กล้ามเนื้อให้มีความคล่องตัว และคล้องจอง(coordination) กันดีเสียก่อนค่อยไปเน้นเรื่องกีฬาใดโดยเฉพาะ เมื่ออายุมากขึ้น
เขาแนะนำว่า ในเยาวชนที่เป็นนักกีฬาซึ่งเล่นกีฬาหนักๆ ควรจะมีการพักเหมือนมืออาชีพ ที่มีการพักระหว่างฤดูกาลแข่งขัน เพื่อทำให้ร่างกายมีโอกาสพักผ่อน ซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ สึกหรอ ให้คืนสภาพ
โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูผู้สอนควรใส่ใจว่า การกำกับดูแลการฟิตซ้อมมีความสำคัญต่อสุขภาพของเด็กมาก เพราะยังมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือโค้ชอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล การวินิจฉัยการบาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดแล้วคิดว่าเป็นตะคริว ก็เลยปล่อยให้เด็กเล่นต่อ ดังนั้น นักกีฬา พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือโค้ช จึงควรต้องมีความคุ้นเคยกับอาการของการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายซ้ำๆ มากเกินไป ที่ฝรั่งเรียกว่า overuse injury ซึ่งมีลักษณะดังนี้
- เริ่มมีอาการปวดทีละน้อย มีลักษณะปวดหน่วงๆ
- ไม่มีประวัติว่าบาดเจ็บเพราะอะไร หรือโดนอะไรกระแทกแน่ชัดเจน
- มีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อหรือข้อ ปวดหน่วง ๆ ในขณะที่ซ้อมหรือแข่งขัน
- ต้องใช้เวลาในการพักยาวขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้หายจากการบาดเจ็บ
- มีจุดกดเจ็บ บวม และต้องงดซ้อมเพราะความปวด
เหล่านี้เป็นอาการที่ผู้ฝึกสอน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด อย่าไปด่าเด็กแบบคนโบราณว่า “เจ็บนิดเจ็บหน่อยเล่นไป เดี๋ยวก็หาย ทำเป็นสำออยไปได้” แต่ควรปรึกษากับแพทย์ทางด้านกระดูกและข้อ หรือแพทย์ทางด้านกีฬา มิฉะนั้นอาจจะทำให้เยาวชนได้รับอันตราย เช่น มีการบาดเจ็บของบริเวณที่งอกของกระดูก (epiphysis) ทำให้ขาข้างนั้นสั้นกว่าปกติ แย่ไปเลย
อย่าทำให้กีฬาที่เคยเป็นยาวิเศษกลายเป็นยาพิษต่อเยาวชนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นะครับ
ขอบคุณ : healthtoday
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!