เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวถึงรายงานสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนไทย ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2555 จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก 20,000 คน ใน 4 ช่วงอายุ จาก 20 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยสภาวการณ์ด้านสุขภาพ พบว่าเยาวชนระดับ ม.ต้น และ ม.ปลายที่กินอาหารเช้าเป็นประจำเพียงร้อยละ 50 เมื่อขึ้นอุดมศึกษาจะเหลือเพียงร้อยละ 37 และเด็กที่กินผักเป็นประจำทุกมื้อ มีเพียง 1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด พบว่าเด็กยังมีค่านิยม สวยผอม โดย 1 ใน 3 มีความคิดใช้ยาลดความอ้วน ทำศัลยกรรม
ส่วนสถานการณ์ภาวะเครียด พบว่าเด็กในระดับมัธยมถึงอุดมศึกษาประมาณ 1 ล้านคน มีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดไม่รู้สาเหตุ และเกือบร้อยละ 50 เคยมีอาการเครียดจนปวดท้องหรืออาเจียน โดยการที่พบว่าเด็กมีความสุขในการไปเรียนลดลง สะท้อนให้ระบบการศึกษาต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งควรปรับการจัดการศึกษาในโรงเรียน ให้กรอบไม่แน่นจนเกินไป โดยเพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กมีทางออกจากความเครียด สร้างความสุขในการใช้ชีวิต ก่อให้เกิดศักดิ์ศรีและเคารพในตัวเอง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนได้ในเวลาเดียวกัน
“ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนเข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 24 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2554 ขณะเดียวกันจากการสำรวจในปี2554 พบว่าเด็กถึงร้อยละ 27 มีเพื่อนสนิทเคยตั้งท้องหรือเคยทำแท้ง และมีเด็กไทยถึง 1 ใน 4 ที่รู้สึกว่าการมีกิ๊กหรือมีแฟนหลายๆ คนพร้อมกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ สะท้อนถึงพฤติกรรมและค่านิยมของเด็กจำนวนมากที่ยังสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาให้ตนเอง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กยังขาดความรู้เรื่องเพศ มีเพียงร้อยละ 53 เท่านั้นที่รู้ถึงข้อจำกัดและความเสี่ยงในการใช้ถุงยางอนามัย และมีเด็กเพียงร้อยละ 57 ที่ยอมรับการพกถุงยางอนามัยติดตัว นอกจากนี้มีเด็กเพียง 1 ใน 4 ที่รู้สึกว่าได้เรียนรู้เรื่องเพศอย่างพอเพียงจากโรงเรียน” นายอมรวิชช์กล่าว
นายอมรวิชช์กล่าวว่า ประเด็นความรุนแรงในเด็กและเยาวชนไทยในรอบปีที่ผ่านมาพบว่าจากจำนวนเด็กในระดับมัธยมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน จะพบว่ามีเด็กและเยาวชนกว่า 700,000-1,000,000 คน ตกอยู่ในภาวะความรุนแรงในโรงเรียน เช่น ถูกขู่กรรโชกทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และการทะเลาะวิวาทกับเพื่อนนักเรียน โดยมีเด็กถึงร้อยละ 33 ที่พบเห็นการพกพาอาวุธร้ายแรง อาทิ ปืน มีดดาบ ระเบิดทำเอง ฯลฯ เข้ามาในสถานศึกษาที่ตนอยู่ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ สื่อยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเด็กไทย โดยใช้เวลาดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ตรวมกันกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ที่น่าสนใจคือ เด็กจำนวนกว่าร้อยละ 50 นิยมดูละครโทรทัศน์ จึงจำเป็นต้องสร้างสื่อเพื่อสะท้อนการใช้ชีวิตอย่างฉลาด ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง