เป็นสิ่งที่สมควรทำหรือเปล่าคะ? ถ้าหากไม่ถูกไม่ควร แล้วจะตั้งจิตอธิษฐานอย่างไรให้เหมาะกับความเป็นพุทธที่สุด? MineMim BabyBee ถาม ว่าควรหรือไม่ควร อันนี้ตอบสั้นๆคือ ‘ไม่ควร’ ครับ! คือไม่ใช่ว่าไม่เหมาะหรือไม่ถูกต้องตามหลักการอะไร แต่อธิษฐานไปก็เสียกำลังใจเปล่าๆ เพราะการจะใกล้หรือห่างกับอรินั้น ขึ้นอยู่กับแรงดึงดูดและแรงผลักของกรรมเก่ากับกรรมใหม่เป็นสำคัญ ถ้าทั้งคู่ยังไม่หมดกรรมต่อกัน หรือกระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่ยอมเลิกแล้วต่อกัน อย่างไรแรงดึงดูดก็จะยังคงอยู่ตรงนั้น ไม่หายไปไหน
ถ้าอยากมั่นใจในพลังอธิษฐาน อย่าอธิษฐานในสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้น แต่ให้เอาแบบนักอธิษฐานมืออาชีพเขาทำกันเป็นขั้นๆ ดังนี้
ตั้งเป้าหมายใหญ่ในระยะยาวถ้ามีเป้าหมายชัดเจน พลังจิตหรือพลังอธิษฐานจะพุ่งไปในทิศทางที่เป็นเส้นตรง ไม่เป๋ออกนอกแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป้าหมายดังกล่าวเป็นเป้าสว่าง เราจะยิ่งเห็นทางไปได้ชัดขึ้นเรื่อยๆอย่างเช่นกรณีนี้ สิ่งที่เราควรตั้งเป้าไว้ไม่ใช่จู่ๆขอให้ ‘คนไม่ดี’ กระเด็นไกลไปจากชีวิตของเราดื้อๆ แต่ควรปรารถนาจะให้ ‘ความไม่ดี’ ห่างหายไปจากตัวเขาเสียที
ตั้งเป้าหมายย่อยในแต่ละวันขอให้เข้าใจว่าพลังอธิษฐานจะเข้มข้นหรือบางเบา เกิดผลตามปรารถนาหรือไม่เกิดผลอะไรเลยนั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจบารมีในตัวของเรา ซึ่งสะสมจากการตั้งใจทำอะไรดีๆแล้วทำสำเร็จ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการสะสมอำนาจความอยากอันนี้ขอให้มองจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันนี่แหละ ตอนเรียนเราจะทำข้อสอบผ่าน ก็ต้องตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้รู้เรื่อง และจะทำข้อสอบให้ทันเวลาด้วยความตั้งอกตั้งใจ พอสอบผ่านได้สำเร็จ ก็รู้สึกว่ามีกำลังวังชา มีความเชื่อมั่น และก่อให้เกิดความรู้สึกว่าครั้งต่อๆไปก็สามารถอ่านหนังสือรู้เรื่องอีก ทำข้อสอบทันเวลาอีก ยิ่งผ่านบ่อยเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะผ่านได้เรื่อยๆมากขึ้นเท่านั้น นี่คือตัวอย่างของการสะสมกำลัง
การสร้างบารมีในการอธิษฐานก็เช่นกัน เราต้องกำหนดอย่างแน่นอนว่าจะทำอะไรให้ได้ เช่น คิดไว้ล่วงหน้าว่าวันนี้เจอกัน ถ้าเขาด่าเราสิบคำแรงๆ เราจะด่าตอบแค่คำเดียวเบาๆ หรือให้เยี่ยมเลยคือเราจะไม่ด่าตอบเลยสักคำ
ตั้งเป้าหมายใหม่ให้ดีขึ้นเรื่อยๆยิ่งทำเป้าได้บ่อยขึ้นเท่าไร คุณจะยิ่งรู้สึกถึงความเข้มขลังในตัวมากขึ้นเท่านั้น ตอนสะกดใจอั้นปากอั้นคำไว้เฉยๆเหมือนไม่รู้จะยอมไปทำไม แต่พอมีแผนการชัดเจนว่าจะเอาพลังจิตจากการสะสมความสำเร็จในการอธิษฐาน จะรู้สึกออกมาจากภายในว่าคุณมีพลังในตัวดีๆเพิ่มมากขึ้นทุกทีถึงขั้นหนึ่งที่ ‘ห้ามปาก’ หรือห้ามอาการทางกายได้สบายๆ ลองทำเรื่องท้าทายกว่านั้น ด้วยการอธิษฐานก่อนออกจากบ้านว่าวันนี้ใครหน้าไหนก็ตามมาทำให้เราโกรธ เราจะรู้สึกถึงไฟโกรธไม่เลิก ไม่ว่าไฟโกรธจะร้อนน้อยลงหรือเพ่ิมมากขึ้น เราจะดูเล่นไปเรื่อยๆ หากทำได้อย่างที่ตั้งใจ ก็เรียกว่ามีอำนาจเหนือจิตของตัวเองแล้ว ไม่ใช่แค่มีอำนาจเหนือปากและกายเท่านั้น
ตั้งเป้าหมายให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อคุณควบคุมอาการทางกาย สายตา และคำพูดของตัวเองได้ กับทั้งเห็นความไม่เที่ยงของไฟโกรธได้ตามการอธิษฐานสักเดือนหนึ่ง สิ่งที่จะรู้สึกได้คือตัวเองมีอำนาจมากขึ้น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น คือ นอกจากสะกดตัวเองได้แล้ว ยังน่าจะสะกดให้คนอื่น ‘แสดงความไม่เที่ยง’ ได้ด้วยก่อนเจอกันกับเขา ขอให้คิดว่าเราเย็นลงแล้ว ก็จะอาศัยความเย็นนี้แหละเป็นความสง่างามทางใจ คือ ไม่อาละวาด แต่ก็ไม่หงอ เมื่อเขาเห็นก็ย่อมรู้สึกเกรงใจ หรือกระทั่งรู้สึกดีกับเรา
เมื่อเห็นท่าว่าเขาจะพูดอะไรร้ายๆใส่เรา เหมือนเห็นไฟตั้งเค้าก่อตัว เราก็แค่คิดว่า ‘ไฟร้อน’ ในตัวเราลดได้ ‘ไฟร้าย’ ในตัวเขาก็ลดได้เช่นกัน คุณอาจพบด้วยความอัศจรรย์ใจ เช่น เขาเหมือนขยับจะด่า แต่แล้วก็เปลี่ยนใจไม่ด่า หรือเขาตั้งท่าจะแรง แต่เอาจริงแค่เบา เป็นต้น
ลองดูแล้วคุณจะเชื่อว่าที่พระพุทธเจ้าท่านให้โต้ตอบคนเลวด้วยความดีนั้น ผลย่อมลงเอยดี ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลล้าสมัยแต่อย่างใดครับ!