โรคอ้วนลงพุง ไม่ใช่แค่ความอ้วนธรรมดา แต่เป็นภาวะอ้วนที่มีไขมันสะสมบริเวณช่วงเอว หรือช่องท้องปริมาณมาก ๆ และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า
Metabolic syndrome ถือเป็นกลุ่มความผิดปกติที่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ด้วย ดังนั้นภาวะอ้วนลงพุง จึงนับว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้
ไขมันที่พุงอันตรายกว่าไขมันส่วนอื่นของร่างกายอย่างนั้นหรือ?
โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นไขมันตรงส่วนใด หากมีมากเกินไปก็ถือว่าไม่ดีทั้งนั้น แต่ไขมันที่สะสมในช่องท้องหรือบริเวณพุงจะสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ส่งผลให้ในกระแสเลือดมีกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยกรดไขมันชนิดนี้จะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง และอาจส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตีบและอุดตันได้
พบว่าในคนอ้วนลงพุงจะมีระดับฮอร์โมน Adiponectin ในกระแสเลือดลดลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบในเซลล์ไขมันเท่านั้น ระดับ Adiponectin ในเลือดที่ต่ำจะสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเป็นตัวทำนายการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย นอกจากนี้ เชื่อว่าความอ้วนและภาวะดื้อต่ออินซูลิน ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการสะสมไขมันในเนื้อตับ เพราะกรดไขมันอิสระที่ออกมาจากไขมันบริเวณพุงจะเข้าสู่ตับโดยตรงได้มากกว่าไขมันบริเวณสะโพก ซึ่งกรดไขมันที่สะสมภายในตับ หากเกิดในช่วงที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนเกินที่สารต้านอนุมูลอิสระสามารถรับมือไหว จะส่งผลให้เกิดการอักเสบของตับตามมาอีกด้วย ดังนั้น คนที่อ้วนลงพุงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคตับมากกว่าคนที่มีไขมันสะสมที่สะโพก
คุณ! พุงโตเกินไปหรือไม่?
รอบเอวเป็นตัวบ่งชี้ภาวะอ้วนที่ง่ายและชัดเจน โดยไม่ต้องใช้การคำนวณสำหรับคนเอเชีย ในปัจจุบันการวินิจฉัยว่าใครจัดอยู่ในกลุ่มโรคอ้วนลงพุงบ้างจะใช้เกณฑ์ดังนี้
เส้นรอบเอวของผู้ชายตั้งแต่ 36 นิ้วขึ้นไป และสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ 32 นิ้วขึ้นไป
มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มก./ดล.
มีระดับ HDL คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 มก./ดล. ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มก./ดล. ในผู้หญิง
ความดันโลหิตมากกว่า 85/130 มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 100 มก./ดล.