นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "ยามาเมะ" ซึ่งเป็นปลาแม่น้ำพื้นถิ่นของญี่ปุ่น โดยใช้พ่อแม่อุ้มบุญต่างเผ่าพันธุ์
นายโกโร โยชิซากิ หัวหน้านักวิจัยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล กรุงโตเกียว กล่าวว่า นักวิจัยแช่แข็งอวัยวะสืบพันธุ์ของแซลมอนยามาเมะ ก่อนสกัดเอาเซลล์สืบพันธุ์เบื้องต้น ฝังเข้าไปในตัวอ่อนปลาเทราท์เรนโบว์ที่ผ่านการทำหมันแล้ว
เซลล์สืบพันธุ์เบื้องต้นเหล่านั้น จะพัฒนาไปตามการเจริญเติบโตของปลา เป็นสเปิร์มสมบูรณ์ในปลาเพศผู้ และพัฒนาเป็นไข่ที่ผสมพันธุ์ได้ในปลาเพศเมีย จากนั้น ไข่และอสุจิก็สามารถผสมพันธุ์กันได้ในหลอดแก้ว ก่อเกิดเป็นปลาแซลมอนสุขภาพแข็งแรง
นายโยชิซากิ กล่าวว่า สามารถกล่าวได้ว่า กรรมวิธีนี้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว นักวิจัยสามารถสร้างอสุจิและไข่ของสัตว์ต้นแบบได้ทุกเมื่อ ทั้งยังมั่นใจว่า เทคโนโลยีเดียวกันนี้ จะสามารถนำไปปรับใช้กับปลาปักเป้าเสือ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของญี่ปุ่น ได้เช่นกัน
ปัจจุบัน ทีมวิจัยยังกำลังทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย
ทั้งยังมีแผนจะยกระดับขึ้นไปอีกขั้น โดยต้องการรู้ว่า กรรมวิธีเดียวกันนี้ จะใช้ได้ผลหรือไม่กับการเพาะสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในที่สุด แต่ก็ยอมรับว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากหน่วยพันธุกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศผู้และเพศเมีย มีความแตกต่างกันมาก