ทั้งนี้ ผู้ริเริ่มความคิดดังกล่าวคือ จอร์จ เชิร์ช วัย 58 ปี ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะผู้บุกเบิกชีววิทยาสังเคราะห์ และริเริ่มโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์โลก โดยเจ้าตัวแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างเซลล์พันธุกรรม หรือดีเอ็นเอของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลขึ้นได้ใหม่จากรหัสพันธุกรรมที่ถอดมาจากซากฟอสซิล และจะคืนชีพมนุษย์โบราณขึ้นมาใหม่โดยให้หญิงมนุษย์ยุคปัจจุบันอุ้มท้อง
หลังจากได้ดีเอ็นเอมาแล้ว ศาสตราจารย์เชิร์ชจะนำมาปลูกถ่ายในเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์
ซึ่งมาจากตัวอ่อนของมนุษย์ และสองสามวันต่อจากนั้น จะย้ายกระบวนการปลูกถ่ายในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์นี้มาผ่าตัดฝังไว้ในมดลูกของอาสาสมัครหญิง เพื่ออุ้มท้องเป็นทารกโดยสมบูรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ เชิร์ชเผยเหตุผลที่เดินหน้าโครงการนี้ท่ามกลางกระแสต่อต้านการโคลนนิ่ง หรือสร้างมนุษย์ในห้องแล็บ ว่า มนุษย์ดีแอนเดอร์ทัลไม่ใช่พวกคนป่า แต่มีความฉลาดมาก โดยพิจารณาจากขนาดสมองที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ปัจจุบัน รวมถึงผลงานริเริ่มผลิตเครื่องไม้เครื่องมือรุ่นแรกๆ ของโลก
ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นด้วยว่า เผ่าพันธุ์เพื่อนบ้านที่สาบสูญอาจจะ “ฉลาดกว่า” เผ่าพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันด้วยซ้ำ
ดังนั้น โครงการนี้จึงมีแนวโน้มก่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่โลกต้องเผชิญกับมหาภัยพิบัติหรือถึงกาลอวสานก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี แนวคิดเพื่อมนุษยชาติยุคไอทีเจอคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมด้านต่างๆ อาทิ สายพันธุ์นีแอนเดอร์ทัลที่เกิดมาอาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคภัยจากสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และอาจจะอยู่ไม่รอดหรือพิการ
บ้างกังวลถึงการดำรงชีพของมนุษย์สายพันธุ์นี้ในสังคมมนุษย์ปัจจุบันว่า อาจถูกล้อเลียนหรืออยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว ซึ่งโยงไปถึงเรื่องศีลธรรมและความปลอดภัย อีกทั้งยังพากันตั้งคำถามว่าทีมงานของศาสตราจารย์พร้อมแล้วหรือยังที่จะปกป้องชีวิตใหม่ของนีแอนเดอร์ทัลให้อยู่อย่างเป็นสุขได้ตลอดรอดฝั่ง