เวลาเพื่อนร่วมงานป่วยเป็นหวัดหรือเป็นไข้หวัดแล้วมาทำงาน ผู้ที่ยังไม่ป่วยมักกังวล โดยเฉพาะตอนที่เพื่อนคนดังกล่าวไอหรือจาม เพราะเข้าใจว่าอาการนั้นสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคสู่ผู้อื่นได้ง่ายๆ ทว่าแม้ผู้ที่ป่วยหลบเลี่ยงไปไอหรือจามไกลๆ แล้วทำไมหลายคนยังป่วยตามล่ะ?
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เผยว่า การไอ จาม รดสิ่งของ หรือใช้มือที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสก่อโรคหวัด ไข้หวัดไปสัมผัสบริเวณต่างๆ ในสำนักงาน ถือเป็นการแพร่เชื้อโรคไปยังเพื่อนร่วมงานได้รวดเร็วกว่าการไอหรือจามใส่กัน
ที่สำคัญ จุดที่แพร่กระจายเชื้อโรคจากผู้ป่วยนั้นมิใช่เพียงแค่บริเวณโต๊ะทำงานหรือของใช้บนโต๊ะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงของใช้ส่วนกลาง โดยเฉพาะตามปุ่มกดควบคุมการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟ็กซ์ ปุ่มกดที่ตู้กดน้ำ มือจับเปิดปิดตู้เย็น ปุ่มกดของลิฟต์ และลูกบิดประตู ซึ่งล้วนแต่เป็นจุดแพร่กระจายเชื้อโรคที่หลายคนมองข้าม
ก่อนที่ผู้วิจัยจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ได้ทำการศึกษากับพนักงานอาสาสมัคร 80 คนจากสำนักงานแห่งหนึ่ง โดยในจำนวนดังกล่าว มีแค่บางคนเท่านั้นที่ได้รับการหยดไวรัสเทียมลงบนฝ่ามือก่อนเริ่มทำงาน เมื่อเวลาผ่านไปประมาณสี่ชั่วโมง ผู้วิจัยตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเทียมไปยังบริเวณต่างๆ เกือบทั่วสำนักงาน และยังมีพนักงานกว่าครึ่งติดเชื้อไวรัสเทียมที่ใช้ในการทดลองนี้
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยระบุว่า นอกจากการไอและจามใส่ผู้อื่นจะเป็นการแพร่เชื้อโรคไปยังผู้อื่นแล้ว การที่ผู้ป่วยมาทำงานแล้วใช้มือสัมผัสยังบริเวณต่างๆ ถือเป็นการแพร่เชื้อสู่วงกว้างได้รวดเร็วยิ่งกว่า โดยเชื้อไวรัสที่มักพบในที่ทำงานคือ เชื้อหวัด ไข้หวัด และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในกระเพาะอาหาร
ทั้งนี้ ทีมวิจัยแนะให้ผู้ที่ป่วยควรลาหยุดงานเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค และเพื่อลดอัตราการแพร่ระบาด ทั้งผู้ที่ป่วยและไม่ป่วย จำเป็นต้องทำความสะอาดมือบ่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยการล้างมือฟอกสบู่ หรือใช้เจลฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะหลังจากการประชุม และก่อนมื้ออาหาร.