ความเป็นมาของรถจักรยาน


รถจักรยานเป็นพาหนะชนิดที่มีใช้ในกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว ครั้งแรกมีโครงทำด้วยไม้มีล้อ 2 ล้อ (เลี้ยวไม่ได้ต้องขี่ไปตรงๆ) ต่อมาได้มี การปรับปรุงรูปทรงและคุณภาพในการใช้งาน จนกลายมาเป็นรถจักรยานชนิดต่างๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ 

การใช้รถจักรยานได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้มีการนำเข้ารถจักรยานโดยเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 5 (ธงชัย พรรณสวัสดิ์. 2536: 250) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รถจักรยานคือพาหนะส่วนบุคคลสำหรับประชาชนโดยแท้ แต่เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความนิยมใช้รถจักรยานจึงได้ลดลง (ธเนศวร์ เจริญเมือง. 2539: 22)

การใช้รถจักรยานเป็นที่นิยมของคนไทยในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะสามารถตอบสนองความต้องการการเดินทางระยะสั้น เพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น การเดินทางไปทำงาน การขนพืชผลทางการเกษตรไปขายยังตลาด ต่อมาการใช้รถจักรยานได้ลดความนิยมลง หลังจากที่รถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะสิบห้าปีที่ผ่านมาได้มีการใช้รถจักรยานในวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น การขับขี่เพื่อการนันทนาการ เพื่อท่องเที่ยวทางไกลและเพื่อการกีฬา เป็นต้น ซึ่งได้ทำให้กระแสสังคมจักรยานเริ่มกลับมาได้รับความสนใจขึ้นใหม่

ต่อมาการใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการจราจรติดขัดตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ การเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์จำนวนมหาศาลบนท้องถนน ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย เช่น มลพิษทางอากาศที่เกิดจากควันของท่อไอเสีย และละอองฝุ่นผง มลพิษทางน้ำที่เกิดจากการปนเปื้อนของสารพิษและน้ำมันไปทุกหนทุกแห่ง ที่มีการสัญจรไปมาโดยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดมลพิษทางเสียงอีกด้วย (ธงชัย พรรณสวัสดิ์. 2536: 249)

หลายเมืองในต่างประเทศได้เห็นประโยชน์ และความสำคัญของการใช้รถจักรยาน ควบคู่กับการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์มาตลอดเวลา ถึงแม้จะมีการขยายผังเมืองตามความเจริญที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาเส้นทางรถจักรยานเดิมไว้ได้ และมีการต่อเชื่อมกับถนนที่สร้างใหม่ ให้มีการใช้รถจักรยานอย่างปลอดภัยอีกด้วย

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (2536: 252) ผู้เชี่ยวชาญด้านรถจักรยานของประเทศไทย ได้กล่าวถึงประโยชน์ของรถจักรยานในด้านต่างๆ ว่าสามารถแบ่งออกเป็น 5 ด้าน คือ (1) ประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้ (2) ประโยชน์ต่อส่วนรวม (3) ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม (4) ประโยชน์ต่อการจราจร และ (5) ประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ส่วนความสำคัญของรถจักรยานจะเห็นได้จาก ปริมาณการใช้รถจักรยานของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากการศึกษาของ วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ และคณะ (2546: 25-36) เกี่ยวกับการใช้และการผลิตรถจักรยาน พบว่า เมืองในยุโรปมีสัดส่วนการเดินทางด้วยรถจักรยานสูงมาก โดยเฉพาะในประเทศเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก มีสัดส่วนการใช้รถจักรยานถึงร้อยละ 30 และ 20 ตามลำดับปริมาณการผลิตรถจักรยานรวมกันทุกประเทศทั่วโลกสูงถึงประมาณ 100 ล้านคันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.5 : 1 เมื่อเทียบระหว่างจำนวนรถจักรยานและจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในปีเดียวกัน ปัจจุบันประเทศจีนมีการผลิตรถจักรยานมากกว่า 40 ล้านคันต่อปี ซึ่งสูงกว่าจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ทั่วโลก

รถจักรยานกำลังจะกลับมาเป็นที่ต้องการใช้ของคนไทยในชุมชนต่างๆ ทั้งชุมชนเมืองและชุมชนในชนบทมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาน้ำมันขึ้นราคา ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังขยายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะรถจักรยานเป็นพาหนะที่ไร้มลพิษ ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรรวมทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และทางเสียงลงได้ และช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าน้ำมัน ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการ ในการเดินทางระยะใกล้และระยะไกลตามความจำเป็นได้ และสอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศในด้านส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และลดปัญหามลพิษในเขตชุมชนเมือง

ความเป็นมาของรถจักรยาน


ขอบคุณ : ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์