แนะยูเอ็นตั้งทีมจับตาอุกกาบาต

แนะยูเอ็นตั้งทีมจับตาอุกกาบาต


นักดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า อุกกาบาต “2012 ดีเอ 14” ซึ่งมีขนาดเท่าครึ่งหนึ่งของสนามฟุตบอล ได้โคจรเข้าใกล้โลกด้วยระยะห่างเพียง 27,350 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา นับเป็นการโคจรของวัตถุนอกโลกในระยะห่างที่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบศตวรรษ

ภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) เผยภาพจุดสีขาวเหนือประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเวลา 02.25 น. ตามเวลาสหรัฐ โดยนาซายืนยันว่าได้ติดตามศึกษาอุกกาบาต 2012 ดีเอ 14 ซึ่งมีความกว้าง 15 เมตร และยาว 45 เมตร มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว และมั่นใจมาโดยตลอดว่าจะไม่พุ่งชนโลกอย่างแน่นอน



“เราติดตามความเคลื่อนไหวของอุกกาบาตหลายลูก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นก็มีโอกาสพุ่งชนโลกน้อยมาก” ดอน ยีโอแมนส์ หัวหน้าโครงการวัตถุใกล้โลกของนาซา กล่าว พร้อมย้ำว่า หากอุกกาบาตพุ่งชนโลกจริงจะมีอานุภาพทำลายล้างเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีถึง 2.4 เมกะตัน หรือเทียบเท่ากับเหตุอุกกาบาตพุ่งชนรัสเซียเมื่อปี 2451 ซึ่งสร้างความเสียหายกินพื้นที่มากถึง 820 ตารางไมล์

สอดคล้องกับ เซอร์จิโอ คามาโช หัวหน้าสำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งเตือนว่าอุกกาบาตลูกดังกล่าวมีอานุภาพมากพอที่จะทำลายล้างกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษทั้งเมือง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังกลุ่มอุกกาบาตพุ่งชนเมืองเชลยาบินสก์ แถบเทือกเขาอูราล ประเทศรัสเซีย ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 1,200 คน ขณะที่อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 5,000 แห่ง โดยล่าสุดนั้นทางการรัสเซียเผยว่า ได้สั่งเจ้าหน้าที่ยุติการค้นหาซากอุกกาบาตในทะเลสาบเชอร์ปากูลแล้ว หลังก่อนหน้านี้คาดว่าสถานที่ดังกล่าวคือจุดที่อุกกาบาตปะทะโลก

ด้านนักวิทยาศาสตร์ต่างแสดงความประหลาดใจหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลก พร้อมกับเหตุอุกกาบาตโคจรเฉียดโลกนั้นมีน้อยมาก หรือคิดเป็นเพียงโอกาส 1 ใน 100 ล้านเท่านั้น

ขณะที่หลายฝ่ายเตือนว่าความเคลื่อนไหวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานั้น
 
เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนให้โลกเร่งรับมือกับภัยคุกคามจากนอกโลกมากขึ้น โดยมีการเสนอให้นานาประเทศเร่งจัดตั้งเครือข่ายพิเศษทำหน้าที่ติดตามวัตถุต่างๆ ที่มีวงโคจรผ่านเข้าใกล้โลก รวมทั้งเสนอให้จัดตั้งทีมดูแลภารกิจสกัดวัตถุที่ส่อพุ่งชนโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เผยว่าสามารถทำได้หลากหลายวิธี อาทิ การทำลายด้วยระเบิดนิวเคลียร์ รวมทั้งการเปลี่ยนเส้นทางโคจรของอุกกาบาต

“เป้าหมายหลัก คือ เราควรจะทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน ว่ากำลังมีวัตถุมุ่งหน้าสู่โลก โดยที่ทางยูเอ็นก็ควรจะผนวกข้อมูลเหล่านี้เข้ารวมกับฐานข้อมูลด้วย” เดทเลฟ โคสนี นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรป กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 นักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้เรียกร้องให้ยูเอ็นเร่งเตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามจากวัตถุนอกโลกมากขึ้น
 
ทว่าข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ทว่า คามาโช คาดว่าที่ประชุมจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาหารืออีกครั้งในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือน ต.ค.นี้


แนะยูเอ็นตั้งทีมจับตาอุกกาบาต


แนะยูเอ็นตั้งทีมจับตาอุกกาบาต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์