เบาหวานขึ้นตา ภาพมัวไม่ชัดแก้ได้


ผลร้ายจากการป่วยโรคเบาหวานที่หลายคนมักนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ อาการทางสายตา หรือที่ชอบเรียกว่า เบาหวานขึ้นตา กรณีนี้ นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยจอตาและวุ้นตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่าเป็นเพราะตัวโรคเบาหวานทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงดวงตา

หากกล่าวเฉพาะเรื่องดวงตาจะพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นนั้น สร้างความเสียหายให้กับเส้นเลือดขนาดเล็ก บางเส้นจะเปราะแตก จึงเกิดเลือดออกหรือรั่วซึมทำให้จอประสาทตาบวม บางเส้นเกิดอุดตันทำให้จอประสาทตาขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทั้งนี้ไม่ว่าเส้นเลือดจะรั่วซึมหรืออุดตัน ทั้งสองลักษณะต่างก็ส่งผลให้จอประสาทตาบริเวณจุดภาพชัดบวมน้ำ และทำให้ตามัวลงอย่างรวดเร็ว

อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน คือ ตาจะมัวลง อาจเห็นเหมือนมีเงาดำๆ บังอยู่ตรงกลาง เนื่องจากบริเวณจุดภาพชัดที่บวมน้ำรับภาพได้ลดลง เห็นภาพวัตถุในลักษณะบิดเบี้ยวไป เนื่องจากเกิดการบวมและขรุขระของผิวจุดภาพชัด และการรับรู้สีบกพร่อง ส่วนใหญ่มักรับรู้สีเพี้ยน หรือสีซีดจางลง

ในส่วนของการรักษานั้น จักษุแพทย์จะตรวจตาผู้ป่วยเบาหวานเป็นระยะ เพื่อตรวจหาและประเมินระยะของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และตรวจหาภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน

หากพบภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำ มีวิธีรักษา 3 วิธี อย่าง "การรักษาด้วยการฉายเลเซอร์" เป็นการใช้แสงเลเซอร์ปิดเส้นเลือดที่รั่วซึมที่จอประสาทตา เพื่อลดการบวมของจุดภาพชัด ก่อนทำใช้เพียงยาหยอดขยายม่านตาและยาชาเท่านั้น โดยผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังการรักษาและล้างหน้าได้ตามปกติ

วิธีต่อมา "การฉีดยาเข้าในตา" มักใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีจุดรับภาพบวมและไม่ตอบสนองการรักษาด้วยเลเซอร์ หรือบวมในลักษณะที่รักษาด้วยเลเซอร์แล้วให้ผลการรักษาน้อย ข้อดีของการรักษาวิธีนี้ มักทำให้จุดภาพชัดที่บวมยุบลงได้เร็ว การมองเห็นกลับฟื้นคืนได้เร็วขึ้น และมีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาสูง แต่ข้อเสียก็มีคือ ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บและมีความเสี่ยงอื่นๆ จากการฉีดยา เช่น เลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว เลือดออกในวุ้นตา หากเป็นโรคต้อกระจกอาจรุกลามเร็วขึ้น หรือเกิดติดเชื้อรุนแรงซึ่งอาจะทำให้ตาบอดได้ แต่โอกาสเกิดเรื่องแทรกซ้อนเหล่านี้น้อยมาก

และสุดท้ายวิธี "ผ่าตัดรักษาจอประสาทตา" มักใช้เมื่อไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเลเซอร์และฉีดยา หรือเกิดการบวมน้ำเนื่องจากมีพังผืดดึงรั้งจุดภาพชัดอยู่ โดยการรักษาแบบนี้ต้องทำในห้องผ่าตัด ผลหลังผ่าตัดจะทำให้ตาแดง ปวดเคือง น้ำตาไหล และอาจทำให้การมองเห็นมัวลงในระยะ 2-3 สัปดาห์แรกแล้วค่อยทุเลาลง จากนั้นต้องใช้ยาหยอดและทานยาร่วมด้วย

สำหรับผู้ป่วยบางราย การผ่าตัดอาจทำเพียงรักษาการมองเห็นที่มัวลงไปแล้วไม่ให้มืดบอดสนิท หรือชะลอการเสื่อมของการมองเห็นให้ช้าลงเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้กลับมามองเห็นได้ชัดเจนเหมือนเดิม เนื่องจากเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนทำลายจุดภาพชัดไปมาก

การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ เช่น เร่งการเกิดต้อกระจกที่มีอยู่แล้วให้ขุ่นเร็วขึ้น เสี่ยงเกิดโรคต้อหิน การติดเชื้อแบคทีเรีย จอประสาทตาหลุดลอกเร็วขึ้น เลือดออกในวุ้นตา ซึ่งในบางกรณีภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจทำให้ตามัวเร็วกว่าภาวะของโรค ยิ่งมีการอุดตันถาวรของเส้นเลือดที่เลี้ยงจุดรับภาพหรือจุดรับภาพบวมน้ำอยู่นาน จุดรับภาพจะเสื่อมจนเสียหายถาวร และไม่อาจกลับมาเห็นชัดได้อีกแม้จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่

การป้องกันภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวานนั้น นพ.ณวัฒน์ แนะผู้ป่วยเบาหวาน ควรรับการตรวจตากับจักษุแพทย์แม้จะไม่มีอาการตามัว และควรตรวจสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ นอกจากนี้ภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน อาจเกิดกับดวงตาเพียงข้างเดียว และผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้ตัวว่าการมองเห็นในตาข้างใดข้างหนึ่งของตนบกพร่องลง เนื่องจากยังใช้ตาอีกข้างที่เห็นดีกว่าดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรทดสอบการมองเห็นของตาทีละข้าง โดยปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง แล้วใช้ตาข้างเดียวมอง ทำสลับกันทั้งสองข้าง หากพบว่าตาข้างใดข้างหนึ่งมัวลง ควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ควรควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตให้ดี จะลดโอกาสการเกิดและลดความรุนแรงของภาวะจุดภาพชัดบวมน้ำจากเบาหวาน โอกาสตอบสนองต่อการรักษากลับมาเห็นชัดสูงขึ้น งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กตีบตันมากขึ้น.


เบาหวานขึ้นตา ภาพมัวไม่ชัดแก้ได้

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์