
เทคนิคสยบจุลินทรีย์ในอาหาร ลดท้องร่วงหน้าร้อน
รู้จักให้ดี จุลินทรีย์ก่อโรคตัวการทำจู๊ดๆ ช่วงหน้าร้อน พร้อมเทคนิคง่ายๆ ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ
หน้าร้อนของทุกๆปี กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ มักเตือนให้ระวังโรคภัยที่มากับอาหาร มุมสุขภาพขอแนะนำเทคนิคดีๆ ในการลดและควบคุมปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ก่อเกิดโรคที่มาจากอาหารกันค่ะ หากคุณแม่บ้านรู้เทคนิคเหล่านี้ จะช่วยให้การเตรียมอาหารปลอดภัย ยืดอายุของอาหารไปได้อีกนะคะ
ก่อนที่เราจะควบคุมจุลินทรีย์ตัวร้ายที่ก่อให้เกิดโรคนั้น มารู้จักแบบคร่าวๆ ก่อนว่า จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีอยู่ทุกๆที่ ทั้งอยู่ในธรรมชาติ ในน้ำ ในอากาศและในดิน มีทั้งประเภทที่ดี ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อม และระบบขับถ่ายภายในร่างกาย และยังมีจุลินทรีย์ตัวร้าย ที่ทำให้เกิดโรคมากมายในคน, สัตว์, พืช โดยจุลินทรีย์แบ่งออกได้หลายกลุ่ม เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยีสต์ เชื้อรา สำหรับตัวที่สร้างปัญหาให้กับร่างกายเราก็คือ จุลินทรีย์ตัวร้าย ซึ่งมีอยู่หลายชนิด หลายสายพันธุ์
ธรรมชาติของจุลินทรีย์ที่เราอาจไม่เคยรู้ คือ จุลินทรีย์มีความสามารถในการขยายพันธุ์แบบทวีคูณจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ไปเรื่อยๆ หากเริ่มจาก 100 ตัว ก็จะขยายพันธุ์แบบทวีคูณจาก 100 ×100 เป็น 10,000 ตัว โดยใช้เวลาเพียง 4-6 ชั่วโมง ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติมโตและเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ก็คือ อุณหภูมิที่เหมาะสม อาหาร น้ำ ก๊าส ความชื้น เป็นต้น ดังนั้นอย่าแปลกใจ ทำไมบางครั้งเราตั้งอาหารไว้ไม่ทันข้ามวันหรือไม่กี่ชั่วโมง อาหารนั้นก็บูดเน่าเสียไปแล้ว
ที่มาของจุลินทรีย์ในอาหาร มีอยู่ด้วยกัน 2 ทาง โดยทางแรก "จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอาหารอยู่แล้ว" ซึ่งอาจมาได้จากหลายทาง เช่น การปรุง การแปรรูปที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ใช้วัตถุดิบที่ไม่สะอาด อุปกรณ์และภาชนะที่ไม่สะอาด รวมไปถึงการใช้อุณหภูมิในการฆ่าเชื้อที่ไม่เพียงพอ ยิ่งถ้าเราเก็บรักษาอาหารไม่ดี เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม (ในช่วง 25–40 องศาเซลเซียส เป็นช่วงจุลินทรีย์ก่อใหเกิดโรคเจริญได้ดี) ก็จะทำให้มีการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้อาหารบูดเน่าเสียได้
และอีกทาง "จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนลงในอาหาร" เช่น มือที่ไม่สะอาด ภาชนะบรรจุที่ไม่สะอาด สิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด จะทำให้อาหารนั้นมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ลงไปได้อีก
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เรามารับรู้เทคนิคลดและควบคุมปริมาณจุลินทรีย์เพื่อลดโรคกันดีกว่าค่ะ
-ทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เป็นวิธีที่ดีในการลดความเสี่ยง เพราะอุณหภูมิที่สูงในการปรุง จะช่วยลดและกำจัดจุลินทรีย์ได้ค่ะ อุณหภูมิที่สามารถฆ่าจุลินทรีย์ก่อเกิดโรคได้ ควรมากกว่า 80 องศานะคะ
-อุ่นอาหารก่อนรับประทาน วิธีนี้จำเป็นอย่างยิ่งกับอาหารที่ปรุงและถูกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานนะคะ หลายต่อหลายคนอาจเคยท้องเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ แท้ที่จริงเพียงเพราะทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ในปริมาณสูงใกล้จะเสีย แต่ยังไม่แสดงให้เห็นความเสื่อมเสีย เช่น มีเมือก หรือ ส่งกลิ่นบูด กลิ่นเปรี้ยว
-ล้างมือทุกครั้งก่อนการทานอาหารหรือปรุงอาหาร เพื่อกำจัดจุลินทรีย์ที่ติดตามมือ เพราะอย่างที่บอกตั้งแต่ต้นนะคะว่า จุลินทรีย์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะเงิน! การไม่ล้างมือจึงเป็นความประมาทที่ร้ายแรงและทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่รู้ตัวนะคะ
-เก็บเข้าตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง หากยังไม่ทาน เทคนิคนี้ก็สำคัญมากนะคะ เพราะอุณหภูมิในตู้เย็น 4–6 องศาเซลเซียสนั้น สามารถลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้มาก ยิ่งถ้าอาหารต้องการเก็บรักษาไว้นานโดยการแช่แข็ง อัตราการเจริญเติบโตแทบเป็นศูนย์ แต่อย่าประมาทไป เพราะการแช่เย็นหรือแช่เยือกแข็ง ไม่สามารถฆ่าหรือกำจัดจุลินทรีย์ได้คะ เป็นเพียงการชะลอการเจริญและเพิ่มจำนวนเท่านั้น ดังนั้นหากนำออกมาแล้ว ก็ควรมีการอุ่นก่อนทานด้วย ทั้งนี้ก่อนเก็บก็ควรบรรจุในภาชนะที่สะอาดและปิดให้มิดชิดด้วยนะคะ หากเป็นอาหารที่ตักทานไปแล้วบางส่วน หากจะเก็บ จำเป็นต้องอุ่นให้ร้อนก่อนเก็บ ไม่เช่นนั้นออกจากตู้เย็นอีกที อาหารอาจเสียได้ค่ะ
-ดมกลิ่น สังเกต หรือลองชิมก่อนการทาน กรณีที่ม่แน่ใจว่ากลิ่นหรือรสชาติเพี้ยนไปจริงหรือไม่ เพียงเท่านี้ก็ไม่ควรเสี่ยงทานแล้วค่ะ เพราะจุลินทรีย์บางตัวสามารถสร้างสารพิษได้ โดยร่างกายเราก็ไม่สามารถดักจับได้ด้วยค่ะ
-อย่าเสี่ยงทานอาหารหมดอายุที่ยังอยู่ในสภาพดี เช่น ขนมปังหมดอายุ แต่ยังไม่มีราขึ้น การมองไม่เห็นเชื้อราขึ้นในอาหารนั้น ไม่ได้บ่งบอกว่ายังไม่อันตรายเสมอไป เพราะอย่างที่บอก จุลินทรีย์ส่วนใหญ่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
-ล้างก่อนทาน สำหรับอาหารที่ยังไม่ได้ผ่านการปรุง เช่น อาหารสดทั้งหลาย อย่างผัก ผลไม้ การล้างให้สะอาดจะช่วยลดทั้งปริมาณจุลินทรีย์และสารเคมีที่ปะปนมากับผักผลไม้ได้ด้วยนะคะ
แค่เราทราบหลักง่ายเบื้องต้นเพียงเท่านี้ เราก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะท้องเสีย ท้องร่วง จากโรคอาหารเป็นพิษกันได้แล้วค่ะ เพื่อตัวเองและคนที่เรารักนะคะ อย่าลืมประโยคที่คอยย้ำกันเสมอค่ะว่า You are what you eat เราจะท้องเสีย ท้องร่วง ก็เพราะเราไม่ใส่ใจ ทานไม่ระวัง และละเลยเทคนิคง่ายๆพวกนี้กันนี่แหละค่ะ.

Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว