นักอนุรักษ์สัตว์น้ำทางทะเลทั่วโลกลุ้นระทึกว่า "ราหูยักษ์" หรือปลากระเบนราหูจะสามารถผ่านด่านอรหันต์เข้าสู่บัญชี 2 ของไซเตสได้หรือไม่ ?
การประชุม "ไซเตสคอป 16" หรือการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะพิจารณาเรื่องนี้ภายในวันที่ 14 มีนาคม โดยตัวแทนผู้เข้าร่วม 177 ประเทศทั่วโลก ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลายฝ่ายกลัวว่าหาก "ปลากระเบนยักษ์" ไม่ผ่านการพิจารณ จะกลายเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถูกใบสั่งให้ล่าเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัดโควตา
ปลากระเบนราหูยักษ์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า "แมนตา เรย์" ถูกเสนอให้ขึ้นบัญชี 2 ชนิดคู่กัน คือ ปลากระเบนแมนตาแนวปะการัง (Manta alfredi) และ ปลากระเบนแมนตามหาสมุทร (Manta birostris?) จัดเป็นปลากระเบนสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก บางตัวมีความกว้างเกือบ 7 เมตร น้ำหนัก 1,300 กิโลกรัม ถิ่นอาศัยอยู่ในน่านน้ำเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงทะเลไทยด้วย พบมากในหมู่เกาะสุรินทร์ เกาะหินแดง เกาะบอน รวมถึงฝั่งอ่าวไทยบางแห่ง พวกมันชอบกินแพลงก์ตอนตัวอ่อนปลา และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ทั่วไป เพราะมีลำตัวขนาดใหญ่ทำให้ปลากระเบนราหูมีศัตรูตามธรรมชาติน้อยมาก ในน่านน้ำไทยศัตรูตัวฉกาจคือ "วาฬเพชฌฆาต"
ที่ผ่านมา เครือข่ายนักอนุรักษ์ไม่ค่อยเป็นห่วงปลาราหูยักษ์ เนื่องจากไม่ได้เป็นที่ต้องการของชาวประมงหรือตลาดค้าสัตว์ทะเล
เนื้อของมันกินไม่อร่อย หากจับได้มักจะปล่อยโยนกลับไปในทะเล แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีรายงานการพบแก๊งเรือล่าปลาราหูยักษ์ในท้องทะเลแถบเอเชีย เพื่อส่งไปขายให้ประเทศจีน ซึ่งคนจีนบางกลุ่มเชื่อว่าอวัยวะของมันเป็นยาขนานวิเศษ
"สำหรับเมืองไทยนั้น ต้องรีบอนุรักษ์ไว้ เพราะเราเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักดำน้ำจากทั่วโลกมาเพื่อดูกระเบนยักษ์เหล่านี้ ธุรกิจดำน้ำทำเงินให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี อยากถามว่าหากปล่อยให้มีการล่าเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่เสียประโยชน์คือใคร ?"