จัดการอารมณ์โกรธสู่ปัญหารุนแรง คุณหมอแนะต้องอภัยและเข้าใจผู้อื่น จากกรณีที่ชาวบ้านย่านสมุทรปราการทะเลาะกันเรื่องสุนัขกัดกัน จนเป็นเหตุให้เพื่อนบ้านอีกฝ่ายโดนยิงเสียชีวิต หรือแม้แต่ภาพของชาวบ้านที่ไม่พอใจกับปัญหาน้ำท่วม จนเป็นเหตุให้มีการยกพวกทำลายทรัพย์สินและคันกั้นน้ำ นับเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า คนในยุคปัจจุบันมักตกอยู่ในห้วงของอารมณ์โกรธได้ง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเครียดมากขึ้น เนื่องจากทุกคนต่างมุ่งแข่งขันกันในการดำเนินชีวิต ประกอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคมไทยนั้นลดน้อยลง หรือคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น
พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร จิตแพทย์แผนกประกันสังคม รพ.กล้วยน้ำไท 1 ได้ออกมาแนะนำถึงวิธีรับมือกับความโกรธที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง เพื่อช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับตนเองและผู้อื่น ว่า อันดับแรกนั้นตัวเราต้องเป็นฝ่ายรู้เท่าทันอารมณ์โกรธ หรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องมีสติอยู่ตลอดเวลาเพื่อระงับความโกรธ ขณะเดียวกันหากเริ่มที่จะไม่พอใจสิ่งใดก็ควรระลึกอยู่เสมอว่า หากทำสิ่งใดรุนแรงอาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สิน
2.ต้องพยายามเข้าใจผู้อื่นให้มากขึ้น โดยการเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง และต้องระลึกอยู่เสมอว่า ความต้องการของแต่ละคนนั้นย่อมไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงไม่ควรตัดสินผู้อื่นโดยการยึดตนเองเป็นหลัก พูดง่าย ๆ ว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ตรงนี้ก็จะช่วยป้องกันอารมณ์โกรธ ที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงได้อีกทางหนึ่ง
3.วิธีการขจัดความโกรธที่ดีที่สุดคือ การให้อภัย เพราะการให้อภัยนั้นจะช่วยทำให้ความโกรธหายได้เร็วที่สุด และช่วยลดความรุนแรงลงได้มากที่สุด
4.เมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น ควรหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
5.ควรใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล เพื่อนำมาซึ่งข้อตกลงที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และช่วยลดการกระทบกระทั่งกันลงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากปล่อยอารมณ์โกรธไว้นั้น คุณหมอกล่าวว่า อาจส่งผลทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น ทำให้เป็นผู้ที่มีจิตใจรุ่มร้อน นอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ ไม่มีสมาธิ ไม่สบายใจ อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุของโรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า โรคเครียด หรือเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ได้ ส่วนอารมณ์โกรธที่นำไปสู่ความรุนแรงนั้น คุณหมอเผยว่าสามารถพบได้แต่อายุ 15 ไปจนอายุ 50 ปี หรือช่วงก่อนเข้าสู่วัยชรา ส่วนแนวโน้มของกลุ่มคนที่ไม่สามารถระงับความโกรธ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นนั้นมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่เคร่งเครียด เพราะทุกคนต้องแข่งขันกันดำรงชีวิต รวมถึงสังคมไทยเป็นสังคมที่ซับซ้อน เพราะมีการแบ่งแยกทางความคิดกันอย่างเห็นได้ชัด ตลอดจนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือความเอื้ออาทรของคนในสังคมลดน้อยลง จึงเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธที่นำไปสู่ความรุนแรงนั่นเอง