เตือนภัยเครื่องสำอาง เช็กสารปนเปือน-ก่อโรค
เครื่องสำอางในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หลายคุณภาพ สิ่งที่ตามมาคือการควบคุมมาตรฐาน
เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขซึ่งทำหน้าที่ดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า กรมมีภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างความปลอดภัย และทำให้เกิดการพัฒนามาตรฐานการผลิตของผู้ประกอบการ ที่ผ่านมามีการตรวจพบสารต้องห้ามในเครื่องสำอางอยู่ตลอด มีแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศซึ่งเป็นการลักลอบผลิตเป็นส่วนใหญ่
สำหรับวิธีการตรวจสอบ กรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์จะยึดรายการสารต้องห้ามตามที่ อย.กำหนด โดยจะตรวจหาส่วนผสมของสารต้องห้าม และหาปริมาณของสารเปรียบเทียบกับฉลากที่จดแจ้งไว้ โดยค่าจะต้องไม่เกิน +18% และ -15% และตรวจหาปริมาณโลหะหนัก 3 ชนิดคือ ตะกั่ว ทองแดง และแคดเมียม นอกจากนี้ หากเป็นกลุ่มของเครื่องสำอางสมุนไพรจะต้องมีการตรวจหาเชื้อก่อโรคด้วย
เมื่อพบการปนเปื้อนจะมีการรายงานอย่างเป็นระบบ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนและเผยแพร่บทความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น วิธีเลือกเครื่องสำอางให้ปลอดภัย จะแนะนำผู้บริโภคอย่างง่ายๆ ว่า การซื้อเครื่องสำอางต้องดูที่มีฉลาก ระบุชื่อและส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เดือนปีที่ผลิต และซื้อจากร้านที่มีหลักแหล่ง ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ หรือมีลักษณะผิดปกติ เช่น แยกชั้น จับเป็นก้อน ตกตะกอน สีเปลี่ยน
หากใช้เครื่องสำอางเป็นครั้งแรกควรทดสอบการแพ้ โดยทาปริมาณเล็กน้อยที่ท้องแขนและทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง เพื่อสังเกตความผิดปกติ การดูส่วนประกอบอย่างละเอียด หากมีประวัติการแพ้สารใดมาก่อน หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณที่มีสิว บาดแผลและรอบดวงตา และเมื่อใช้ต้องปิดฝาเครื่องสำอางให้สนิทและเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น
กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังร่วมกับสภาสตรีฯ ทำโครงการ "สตรีไทย ห่วงใยสุขภาพเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เพื่อให้ภาคีเครือข่ายสตรี 84 ชมรมทั่วประเทศ ทำงานประเด็นเดียวกัน คือ การรณรงค์ "งามสมวัยอย่างปลอดภัย ใจไม่เครียด"
"การอาศัยพลังจากผู้หญิงเพื่อทำงานขับเคลื่อนในเรื่องของผู้หญิงถือเป็นวิธีที่มีพลังอย่างมาก ที่ผ่านมาก็มีการทำงาน เช่น การรณรงค์ตรวจหามะเร็งปากมดลูก ถือว่าประสบความสำเร็จ ทำให้อัตราการตรวจมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งการป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อเครื่องสำอางถือเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัว"
ปัจจุบันมีสื่อใหม่ๆ จำนวนมาก เช่น ทีวีดาวเทียม อินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงเครื่องสำอางตามคำโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น การมีความรู้เป็นเครื่องป้องกันจึงถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากการตรวจหาในห้องปฏิบัติการซึ่งกรมมีอยู่ทั่วประเทศ 14 แห่ง ยังมีการพัฒนาชุดตรวจทดสอบอย่างง่ายขึ้น สามารถตรวจสอบการปนเปื้อนหรือหาสารต้องห้ามเบื้องต้นได้อย่างง่ายด้วยตนเอง