จะทำอย่างไร? เมื่อความอ้วนมาป่วนผิว


ตอนนี้ใครที่ใจกำลังคิดกลัวโรคใหม่ๆ ที่ถูกค้นพบ อย่างไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ หรือมะเร็ง ที่ว่ากันว่าน่ากลัวเหลือเกินนั้น ควรจะหันกลับมามองโรคที่มีโอกาสเกิดสูง แถมยังใกล้ตัวสุดๆ อย่าง "โรคอ้วน" ที่กำลังก่อปัญหาให้กับการดำเนินชีวิตของประชากรทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

ด้วยอยากจะให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงภยันตรายที่มาจากโรคอ้วนต่อผิวหนัง สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงได้จัดแถลงข่าวในหัวข้อ "เมื่อความอ้วนมาป่วนผิว" ไปเมื่อไม่นานมานี้

นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการอำนวยการสมาคมฯ อธิบายนิยามของโรคอ้วนว่า เป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีไขมันสะสมในร่างกายมาก ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล การวินิจฉัยโรคอ้วนนั้น ส่วนมากจะวินิจฉัยจากดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ คำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงที่เป็นเมตรยกกำลังสอง หากเกิน 25 ก็จะถือว่าเป็นโรคอ้วน ซึ่งหน่วยนี้แต่ละประเทศก็จะไม่เท่ากัน หากเป็นในสหรัฐอเมริกา ต้องเกิน 30 จึงจะถือว่าเป็นโรคอ้วน

สาเหตุของโรคอ้วนใหญ่ๆ มี 2 สาเหตุ ได้แก่

1.ความรู้เท่าถึงการณ์ คือ รับประทานอาหารมากไปแล้วไม่ออกกำลังกาย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รู้ว่ากินแล้วอ้วนแต่ก็ยังกิน

2.ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ มีความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารไม่ถูกต้อง การทานอาหารหรือเครื่องดื่มล้วนให้แคลอรีทั้งสิ้น อย่างสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล พบว่าเมื่อรับประทานไปนานๆ กลับทำให้อ้วนมากขึ้น และทำให้เสพติดความหวาน รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับเบาหวานมากกว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจริงๆ เสียอีก

"อาหารที่ไร้ไขมันหรือไขมันต่ำ จะใส่น้ำตาลปริมาณมากเพื่อชดเชยกับรสชาติที่สูญเสียไป กลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะผู้บริโภคคิดว่าดีต่อสุขภาพจึงรับประทานมากขึ้น" ดร.นพ.เวสารัชกล่าว และว่า จิตวิทยาในการซื้ออาหารของผู้บริโภค ถ้าพบว่าอาหารมีขนาดใหญ่ขึ้นมากแต่เพิ่มราคาเพียงเล็กน้อยจะรู้สึกคุ้มค่าทำให้ซื้อของที่เกินขนาดความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรค

ดร.นพ.เวสารัช บอกอีกว่า คนที่เป็นโรคอ้วน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ข้อเข่าเสื่อม มะเร็ง และมักสัมพันธ์กับกลุ่มอาการเมตะบอลิก ที่ประกอบไปด้วยไขมันสูง เบาหวานและความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ยังมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะลดความอ้วนว่า ไม่ลดฮวบฮาบ และหากน้ำหนักไม่มากจริงๆ ไม่ควรลดเกินสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่ต้องระวังเรื่องข้อเข่าเสื่อมและควรเพิ่มกล้ามเนื้อเพื่อลดภาวะกระดูกพรุน รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการทานอาหารฟาสต์ฟู้ด ควรทานอาหารประเภทต้ม นึ่ง หรือย่างแทน

"ตอนนี้โรคอ้วนกลายเป็นปัญหาสากลและแนวโน้มของเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยเองก็มีความชุกของโรคอ้วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด" ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะอนุกรรมการวิชาการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าว

และนอกจากจะก่อปัญหาเรื่องรูปร่างภายนอกแล้ว โรคอ้วนยังทำให้เกิดปัญหาด้านอื่นตามมาอีกมากมายเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาหลายอย่างโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินคือ Acanthosis Nigricans ลักษณะอาการคือ ผิวหนังจะเป็นปื้นดำหนาขรุขระดูคล้ายผ้ากำมะหยี่ พบบ่อยบริเวณซอกพับของร่างกาย บางครั้งอาจมีติ่งเนื้อจำนวนมากควบคู่กับปื้นดังกล่าวด้วย เช่น รักแร้ หลังคอ ข้อพับแขน หากเป็นมากอาจพบที่บริเวณอื่นได้ เช่น ใบหน้า หลังมือ

ผศ.พญ.ภาวิณี อธิบายต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมี โรคขนคุด ลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งบนรูขน คลำแล้วรู้สึกสาก พบมากบริเวณแขน ขาทั้งสองข้าง รวมทั้งยังพบอาการ ผิวแตกลาย แบบเดียวกับที่พบในสตรีมีครรภ์ บริเวณหน้าท้อง บั้นท้ายและต้นขา เพราะผิวหนังขยายตัวไม่ทันการขยายตัวของชั้นไขมัน ส่วนคนที่อ้วนมากๆ จะพบผิวหนังแตกลายบริเวณกลางหลัง

รวมทั้งยังมีโรคติดเชื้อบริเวณข้อพับ ที่อาจเกิดจากความอับชื้น เกิดอาการผื่น หรือผิวหนังอักเสบ และยังพบโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งมีการตอบสนองการรักษาช้ากว่าปกติ รวมทั้งนอกจากจะเป็นตามตัวแล้วยังจะพบอาการนี้ขึ้นตามข้อพับ หรือขาหนีบด้วย ซึ่งเมื่อลดน้ำหนักแล้วจะพบว่าโรคส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น

ด้าน พญ.นัทยา วรวุฒินันท์ จากสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อลดสัดส่วนมีหลายประเภท แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การใช้เครื่องมือทางการแพทย์นี้เป็นการ "ลดสัดส่วน" ไม่ใช่ "ลดความอ้วน" เพื่อช่วยลดสัดส่วนในแต่ละส่วนของร่างกาย ช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้ง่ายขึ้น และผู้หญิงกับผู้ชายจะมีพื้นที่สะสมไขมันต่างกัน คือ ผู้หญิงมักมีบริเวณบั้นเอวกับหน้าท้องและต้นขา ส่วนผู้ชายจะสะสมอยู่บริเวณบั้นเอว

การลดสัดส่วนโดยเทคโนโลยีใหม่ๆ มีหลายวิธี อย่างเช่น การดูดไขมัน ซึ่งกลุ่มเครื่องมือเหล่านี้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยสลายชั้นเนื้อเยื่อไขมันให้กลายเป็นของเหลวเพื่อให้ง่ายต่อการดูดออกมาจากร่างกาย ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงเพราะบางวิธีแพทย์ต้องรมยาสลบ เนื่องจากจะต้องใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในร่างกายเพื่อดูดไขมันออกมา หรือเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดขนาดของไขมันส่วนเกิน อย่างเช่น คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency-RF) ที่ทำงานร่วมกับพลังงานความร้อนแสง Infrared(IR) ร่วมกับลูกกลิ้งและระบบสุญญากาศ ซึ่งความร้อนจากทั้งสองอย่างนี้จะเพิ่มการเผาผลาญไขมันใต้ผิว ทำให้เซลล์ไขมันลดขนาดลง แต่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล

"แต่อย่างที่บอกว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือรักษาโรคอ้วนได้โดยตรง ผู้ป่วยต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย" พญ.นัทยา บอก

ดร.นพ.เวสารัช กล่าวเสริมในตอนท้ายถึงเรื่องการนวดลดไขมันว่า การนวดนั้นมีการส่งความร้อนเข้าสู่ผิวจริงแต่ก็ไม่สามารถสลายไขมันได้ หลังจากที่นวดแล้วรู้สึกว่าส่วนนั้นเล็กลงเป็นเพราะการสูญเสียน้ำ คือ การรีดน้ำออกจากเซลล์ทำให้เซลล์มีขนาดเล็กลงและดูเหมือนว่าส่วนนั้นมีขนาดเล็กลง แต่เมื่อเราดื่มน้ำเข้าไปเซลล์ก็จะมีขนาดเท่าเดิม

"ส่วนเรื่องยาลดความอ้วนหรืออาหารเสริมนั้น ส่วนมากอาหารเสริมที่ขายตามท้องตลาดจะมีส่วนผสมของ CLA กรดไขมันและ LCH คอลลาเจน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อาหารเสริมบางประเภทจะใส่ยาหรือสารต้องห้าม บางชนิดมีสารที่ทำลายผนังหัวใจ หรือทำให้ร่างกายไม่ดูดซับไขมัน ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้" ดร.นพ.เวสารัชกล่าวทิ้งท้าย

รู้เช่นนี้แล้วก็ควรออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วยกันนะ แม้จะเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนเข้าใจ แต่เราก็ยังพบคนสุขภาพย่ำแย่จากความอ้วนมานักต่อนัก

จะทำอย่างไร? เมื่อความอ้วนมาป่วนผิว

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์