ไทยติดอันดับประเทศอ่านหนังสือน้อย

ไทยติดอันดับ'ประเทศอ่านหนังสือน้อย'


เป็นที่น่าตกใจที่สุด เมื่อผลการประเมินขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) ด้านการอ่านของคนไทยพบว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการอ่านลดลง เนื่องในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติและวันรักการอ่าน สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการ "รีด ไทยแลนด์ : อ่านเถิด...เด็กไทย อ่านถวายเจ้าฟ้านักอ่าน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558


รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า

ที่มีโอกาสได้รับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่าว่า ทุกครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะอยู่ห่างไกล จะทรงชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความเป็นอยู่และการศึกษาไปด้วย อันหนึ่งที่ไม่เสด็จฯ ไม่ได้คือ ห้องสมุดของโรงเรียนทุกแห่ง และไม่ใช่แค่ทอดพระเนตรด้านนอก แต่จะทรงสังเกตหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดว่าเป็นหนังสืออะไร ถูกอ่านหรือไม่ แสดงให้เห็นว่าทรงให้ความสำคัญเรื่องการอ่าน และการรู้ภาษาไทย เพราะเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญ ถ้าหากอ่านไม่ออกก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนได้
 
"หลักๆ ที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญ คือ ในห้องสมุดมีหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กหรือเปล่า หลายครั้งที่ในห้องสมุดมักจะมีหนังสือสำหรับเด็กน้อย
จะทรงถามบรรณารักษ์ว่า คุณครูและนักเรียนได้อ่านทุกเล่มหรือเปล่า คือ ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่จะมีหนังสืออ่าน คุณครูต้องมีหนังสืออ่านที่เหมาะสำหรับครู ในเรื่องพัฒนาความรู้ที่จะนำมาถ่ายทอดให้เด็กๆ ด้วย โรงเรียนในพระราชดำริส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ห่างไกล พระองค์ท่านจะดูถึงคุณครูมีที่พักดีหรือไม่ เพราะถ้าที่พักไม่ดี คุณครูก็จะไม่มีกำลังใจอยากจะอยู่ เด็กๆ ก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทำให้พวกเราทราบอย่างหนึ่งว่า เด็กไทยนั้นโชคดีเหลือเกิน ที่มีพระองค์ท่านทรงเป็นต้นแบบในการอ่านอย่างแท้จริง" รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าว
 
ด้าน ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.)

และกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องการอ่านเป็นที่ประจักษ์ให้ทราบกันแล้วว่า มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยโดยหญิงมีสถิติการอ่านมากกว่าชาย กรุงเทพมหานครมีคนอ่านหนังสือมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง
ส่วนภาคเหนืออ่านหนังสือน้อยที่สุด แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยและคนไทยเข้าไม่ถึงหนังสือเท่าที่ควร
 
มีตัวเลขวัดผลตามที่ต่างๆ เช่น เมื่อสัปดาห์ก่อนมีผลโอเน็ตจาก สพฐ.ออกมา พบว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กทุกชั้นต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และที่น่าตกใจคือ คะแนนภาษาไทยต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นเรื่องสำคัญว่าถ้าเราอ่านภาษาไทยไม่แตกฉาน หมายความว่าความเข้าใจทักษะด้านอื่นๆ ก็จะไม่ถึงเกณฑ์ไปด้วย ในขณะที่ PISA ประเมินนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ จะวัดผลหลักๆ 3 เรื่อง คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เน้นเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์ เมื่อเปรียบเทียบการวัดผลการคิดวิเคราะห์ในปี 2000 และ 2006 น่าสนใจมาก พบว่าประเทศที่มีสมรรถนะการอ่านที่ดีที่สุด คือ เกาหลี ตามด้วย ฟินแลนด์ ฮ่องกง ส่วนประเทศที่วัดผลแล้วได้เหนือเกณฑ์ คือ นิวซีแลนด์ แคนาดา แต่มาถึงประเทศไทยค่อนข้างน่าสลดใจ เพราะอยู่ในเกณฑ์ประเทศที่มีผลการอ่านลดน้อยถอยลง" ดร.สิริกร แจกแจง
 
สำหรับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ดร.สิริกร กล่าวว่า จะเป็นการส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็กนักเรียนระดับ ป.5

โดยเชิญชวนโรงเรียนทั่วประเทศ 40,000 โรง ให้เข้าร่วม ซึ่งโครงการคัดเลือกหนังสือประกอบด้วย หนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ บทกวี บทอาขยาน ฯลฯ กว่า 400 รายชื่อ เกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากว่า อ่านแล้วได้อะไร สามารถสรุปความได้หรือไม่ โดยจะแข่งกันตั้งแต่ระดับโรงเรียน จังหวัด และสุดท้ายระดับชาติ โดยโรงเรียนที่ชนะจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

ไทยติดอันดับประเทศอ่านหนังสือน้อย

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์