1.โรคอ้วน
โรคจากไลฟ์สไตล์ที่สามารถป้องกันได้ง่ายที่สุดของยุคนี้ก็คือ โรคอ้วน ซึ่งมีสาเหตุมากจากการใช้ชีวิตตามอย่างชาวตะวันตกกันทุกฝีก้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารจานด่วนสารพัดรูปแบบเพื่อความสะดวกและรวดเร็วแทนการทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน หรือการนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์และท่องโลกอินเตอร์เน็ตเป็นชั่วโมงๆ แทนการเล่นกีฬากลางแจ้ง หรือการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งไลฟ์สไตล์แบบนั่งๆ นอนๆ และการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพนี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนยุคนี้มีน้ำหนักมากกว่าส่วนสูงและความแข็งแรง
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คนอ้วนมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะกระดูกพรุน และโรคจากไลฟ์สไตล์ชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้คุณหมอทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอเด็กจึงพากันกังวลใจเมื่อพบว่ามีจำนวนเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้เด็กๆ และพ่อแม่รับรู้ถึงความสำคัญของการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ด้วยการปฏิบัติตามประโยคที่ทุกคนควรจดจำให้ได้ว่า “กินให้น้อยลง เคลื่อนไหวให้มากขึ้น”
วิธีง่ายๆ ที่จะดูว่าคุณอ้วนหรือเปล่าก็คือ การดูค่าดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) ด้วยสูตรต่อไปนี้ น้ำหนัก(กิโลกรัม)หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (กก/ม2) ถ้า BMI ของคุณอยู่ระหว่าง 25-29.9 แสดงว่าคุณมีน้ำหนักตัวมากเกิน แต่ถ้า BMI ของคุณเกิน 30 แสดงว่าคุณเป็นโรคอ้วน BMI ปกติควรอยู่ระหว่าง 18.5-24.9
2. เบาหวาน
คำกล่าวอ้างทางอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์บอกว่า หลังจากมีอุตสาหกรรมน้ำอัดลมเกิดขึ้น จำนวนคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ก็เพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ว่าเราจะเชื่อคำกล่าวอ้างนี้หรือไม่ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าอาหารที่เรารับประทานมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดเบาหวาน นอกเหนือจากสาเหตุของพันธุกรรม และหากผู้ป่วยไม่สามารถคุมเบาหวานได้ก็จะนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างที่เราเรียกว่า เบาหวานขึ้นตา หรืออาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนที่ส่งผลเสียต่อไต เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท และอาจจะเกิดผื่นที่ผิวหนังด้วย
วิธีการอันดับแรกในการรับมือกับเบาหวานก็คงเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนในเรื่องโภชนาการ โดยหันไปรับประทานอาหารที่ทำให้ค่าดัชนีน้ำตาลในเลือดต่ำ และออกกำลังมากขึ้น เพื่อจะได้เพิ่มการนำน้ำตาลเข้าไปในเซลล์
3. โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ
คุณเคยสงสัยไหมว่า ไขมันในอาหารที่เรารับประทานเข้าไปจะไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นพลังงาน คำตอบก็คือไขมันจะไปเกาะอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยบางส่วนก็ไปพอกอยู่ที่พุง ซึ่งทำให้รูปร่างไม่สวย ส่วนที่เหลือ เช่น คอเลสเตอรอลจะไปเกาะอยู่ตามหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความดันโลหิตสูง และทำให้ออกซิเจนเข้าเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้น้อย จึงมีโอกาสที่จะเกิดอาการหัวใจวาย หรือทำให้หัวใจขาดเลือด ถ้าคราบพลักที่เกาะอยู่เกิดหลุดออก และไปอุดกั้นทางเดินหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
เช่นเดียวกับโรคจากไลฟ์สไตล์อื่นๆ โรคหลอดเลือดเสื่อมจะเกิดขึ้นจากการที่ไขมันที่บริโภคเข้าไปจับตัวเป็นแผ่นอยู่ที่ด้านในของผนังหลอดเลือด โดยค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ก่อนที่จะแสดงอาการของโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจออกมาในที่สุด
4. ความดันโลหิตสูง
ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักหรือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง แต่ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่มีต้นเหตุจากการใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น ความอ้วน วิถีชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์จนเป็นนิสัย ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีอายุมากขึ้น ความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้หัวใจเกิดความเครียด อันนำไปสู่อาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และถ้าเป็นที่ไตก็จะทำให้ไตถูกทำลาย
5. ภาวะอ้วนลงพุง
ภาวะอ้วนลงพุงครอบคลุมถึงกลุ่มความผิดปกติหลายๆ อย่าง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงก็คือ ความอ้วน ภาวะต้านอินซูลิน ไขมันในเลือดผิดปกติ วิถีชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ความเครียด และความสูงวัย
องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า การวินิจฉัยความผิดปกติของภาวะอ้วนลงพุงให้ดูที่การปรากฏตัวของโรคเบาหวาน หรือภาวะเสี่ยงก่อนการเป็นเบาหวาน อย่างภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ รวมถึงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อาการดังต่อไปนี้
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดผิดปกติ
- มีไขมันพอกรอบๆ เอว
- มีโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ
6. โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคทางสมองที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของออกซิเจนและปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เนื่องจากเส้นเลือดอาจจะถูกขวางกั้น เช่นเดียวกับอาการหัวใจวาย หรือการฉีกขาดของเส้นเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองก็คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และการสูบบุหรี่ โดยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมากสูงกว่าคนที่มีอายุน้อย
7.โรคไตวายเรื้อรัง
การบาดเจ็บเรื้อรังของไตซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงมักมีสาเหตุมาจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งหากว่าไตทำงานไม่ดีก็จะเป็นเหตุสารพิษที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญอาหารตกค้างสะสมอยู่ภายในร่างกาย โดยอาจจะต้องมีการล้างไตหรือเปลี่ยนไตหากว่าเกิดไตวายระยะสุดท้าย คนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคไตวายเรื้อรัง จึงควรรักษาอาการเจ็บป่วยไม่ให้แย่ลง
8. โรคตับอักเสบเรื้อรัง
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานานๆ เป็นสาเหตุให้ตับถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายมากสำหรับตับ และอาจจะทำให้เกิดอาการตับวายในที่สุด
9. โรคมะเร็ง
มีการพิสูจน์แล้วว่าการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งประเภทต่างๆ ตั้งแต่กล่องเสียง ทางเดินหายใจ ไปจนถึงหลอดอาหารและกระเพาะปัสสาวะ ขณะที่โรคอ้วนจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในผู้หญิง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หากคุณต้องการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง และควรหันไปรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน และกูลตาไทโอน จะดีกว่า
10. ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
บ่อยครั้งที่การลุกลามของภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งรวมถึงโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการตีบตันของทางเดินอากาศที่เข้าสู่ปอด ส่งผลให้การหายใจเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยการตีบตันนี้มักจะมาจากการอักเสบเพราะได้รับควันที่มีสารอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งควันบุหรี่ ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการหยุดสูบบุหรี่ รวมถึงเข้ารับการบำบัดเพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวร
11. โรคหอบหืด
แม้ว่าจะไม่ใช่โรคที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์เสียทีเดียว แต่ปัจจัยจากสภาวะแวดล้อมก็ทำให้โรคหอบหืดมีอาการแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว การติดเชื้อ ความเครียด การสูบบุหรี่และมลพิษทางอากาศ วิธีการรับมือกับโรคหอบหืดก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดและการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่นั่นเอง
12. ภูมิแพ้และโรคผิวหนัง
ในยุคที่ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับเรื่องความสวยความงามทางร่างกายมากขึ้น ทำให้คนชอบทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามประเภทต่างๆ อยู่เสมอ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินเข้าออกเพื่อรับการรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับผิวหนังแบบต่างๆ ฉะนั้นเราจึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามกันอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ หากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่เห็นตามสื่อโฆษณา
นอกจากนี้ความเครียด และนิสัยเสียอื่นๆ เช่น การนอนดึก ก็อาจจะทำให้เกิดสิวอย่างรุนแรง หรือทำให้ผิวหนังเกิดปัญหาอื่นๆ ได้ ขณะที่การปล่อยให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยไม่ปกป้องก็อาจจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
13. ภาวะโภชนาการต่ำ
สิ่งที่ตรงข้ามกับโรคอ้วนก็คือ ภาวะโภชนาการต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความยากจนไปจนถึงการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ภาวะโภชนาการที่ไม่ดีโดยเฉพาะในวัยเด็ก จะนำไปสู่ปัญหาการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดสภาวะเซื่องซึม หรือมีอาการแสดงออกทางผิวหนังและเส้นผม รวมถึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้การดื่มสุราเรื้อรังยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดความบกพร่องในการดูดซึมอาหารและการนำเอาสารอาหารออกมาใช้
14. โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง แสดงออกด้วยอาการหลงลืม หรือการสูญเสียความทรงจำ ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาวะแวดล้อม รวมถึงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การเล่นเกมต่างๆ การเล่นเกมครอสเวิร์ด จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ อีกกิจกรรมที่จะช่วยให้สมองแหลมคมและลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ก็คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
15. การใช้ยาเสพติด
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุความตายที่สามารถป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้คนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจึงพยายามต่อต้านการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดโดยพยายามให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ถึงผลเสียต่อสุขภาพของการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ทุกวิถีทาง แต่อย่างที่ทราบว่าเด็กๆ มักจะทำอะไรตามต้นแบบ โดยเฉพาะพ่อแม่ ฉะนั้นถ้าเด็กๆ เติบโตในครอบครัวที่มีสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงมีพ่อแม่ที่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เด็กๆ ก็จะได้รับอิทธิพลเหล่านั้นไปด้วย พ่อแม่จึงควรปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเสียใหม่ให้เป็นมิตรกับสุขภาพ เพื่อตัวคุณเองและลูกหลาน