ภาวะการแพ้คอนแทคเลนส์


ภาวะการแพ้คอนแทคเลนส์มีชื่อ ทางการแพทย์ว่าโรค GPC ย่อมาจาก Giant Papillary Conjunctivitis ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับดวงตา พบในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดถาวร หรือเลนส์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 วัน (Permanent lenses) โดยอาการแพ้ดังกล่าวเกิดจากคอนแทคเลนส์สกปรก มีคราบโปรตีนที่ล้างไม่หมดเกาะอยู่ คราบโปรตีนเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบของน้ำตาธรรมชาติ ที่เมื่อสะสมรวมกับสารภายนอก เช่น ฝุ่นละออง เครื่องสำอาง จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาขึ้นได้

ผู้ที่เป็นโรค GPC จะมีอาการคันตา ระคายเคือง มีขี้ตาเป็นเมือกขาว ตาแดงเรื่อๆ และไม่สบายตาเท่ากับช่วงที่ใส่คอนแทคเลนส์ใหม่ๆ นอกจากนี้บางครั้งคอนแทคเลนส์อาจเลื่อนหลุดได้ง่ายอีกด้วย เมื่อจักษุแพทย์ทำการตรวจดวงตาของผู้ที่เป็น GPC ด้วยกล้องขยายพิเศษสำหรับตรวจตา (Slit lamp) จะพบมีเม็ดเล็กๆ (Papilla) ที่เยื่อบุตาบริเวณด้านในของเปลือกตา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อเกิดภูมิแพ้ที่ดวงตา

อาการแพ้ในโรค GPC อาจรักษาให้หายได้โดยการพบจักษุแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้หยุดใส่คอนแทคเลนส์ไว้ชั่วคราวก่อน และให้ยาแก้แพ้มาหยอดตา แต่เมื่อกลับมาใส่คอนแทคเลนส์อีกก็อาจกลับเป็นขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ ถ้าคุณยังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม ดังนั้นคุณจึงควรแก้ไขที่สาเหตุ คือ กำจัดความสกปรกของคอนแทคเลนส์อย่างสม่ำเสมอให้ถูกต้อง โดยการชะล้างคราบโปรตีน ไขมัน และฝุ่นละอองต่างๆ ที่เกาะอยู่ออกให้หมด หรือเปลี่ยนไปใช้คอนแทคเลนส์ชนิดเปลี่ยนทุก 2-4 สัปดาห์ (Disposable lenses)

 สารทำความสะอาดที่มีอยู่ในน้ำยาอเนกประสงค์ทุกชนิดที่มีขายในท้องตลาด สามารถทำความสะอาดคราบไขมัน เยื่อเมือก และโปรตีนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ในการขจัดคราบโปรตีนสะสมจำเป็นต้องใช้เอ็นไซม์โปรตีเนส (Proteinase) ในการย่อยสลายโปรตีน จึงจะสามารถขจัดคราบโปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ โดยตัวเอนไซม์เองจะเป็นชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุตา

ในน้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์แบบ อเนกประสงค์ทุกชนิดที่มีขายในท้องตลาดนั้น ไม่มีส่วนประกอบของเอ็นไซม์โปรตีเนส เพื่อใช้ในการย่อยสลายคราบโปรตีนสะสมดังกล่าว เนื่องจากเอ็นไซม์นี้จะไม่คงตัวในสารละลายที่มีปริมาตรมากๆ
สารประกอบส่วนหลักๆ ในน้ำยาอเนกประสงค์ คือ 

- สารฆ่าเชื้อโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี บางชนิดสามารถฆ่าเชื้อรา และเชื้ออะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ได้ด้วย

 - สารทำความสะอาด ส่วนที่มีคุณสมบัติเป็นสบู่ ใช้ขจัดคราบไขมัน เยื่อเมือกได้ และอีกส่วนที่เป็นสารขจัดคราบโปรตีน ออกฤทธิ์ด้วยกลไกที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด แต่ไม่ใช่เอนไซม์โปรตีเนส

การใช้น้ำยาอเนกประสงค์เพียงขวดเดียว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์แบบชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน ถ้าใช้เลนส์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 วัน หรือเลนส์ถาวร
การสะสมของสิ่งสกปรกบนผิวคอนแทคเลนส์จะมากเกินกว่าที่จะสามารถขจัดออกได้ ด้วย สารขจัดคราบโปรตีนที่มีอยู่ในน้ำยาอเนกประสงค์ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องใช้เอ็นไซม์ร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นยาเม็ดเอ็นไซม์ละลายในน้ำยาล้างเลนส์ หรือเป็นเอ็นไซม์แบบน้ำยาสำเร็จรูปก็ได้ เพื่อให้คอนแทคเลนส์ของคุณสะอาด จะได้ไม่ก่อให้เกิดการแพ้คอนแทคเลนส์

ภาวะการแพ้คอนแทคเลนส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์