ผลวิจัยร่วมระหว่างออสเตรเลียกับอังกฤษระบุว่า น้ำแข็งฤดูร้อนในขั้วโลกใต้กำลังละลายเร็วกว่าเมื่อ 600 ปีก่อนถึง 10 เท่า โดยส่วนใหญ่มีอัตราการละลายอย่างรวดเร็วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชั่นแนล (เอเอ็นยู) และหน่วยสำรวจขั้วโลกใต้ของอังกฤษ ได้เจาะเอาแกนน้ำแข็งยาว 364 เมตร จากเกาะเจมส์ รอสส์ ทางเหนือของขั้วโลกใต้ เพื่อวัดอุณหภูมิที่ผ่านมาในพื้นที่ดังกล่าว โดยแกนชั้นในของน้ำแข็งในฤดูร้อนบนลานน้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นโลก เป็นตัวชี้วัดถึงช่วงเวลาที่น้ำแข็งละลายและกลับมาแข็งตัวใหม่อีกครั้ง
จากการวัดความหนาของชั้นน้ำแข็งที่ละลาย นักวิทยาสาสตร์สามารถประเมินจากการละลายของก้อนน้ำแข็งที่ผ่านมาเปรียบเทียบกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปในสถานที่ของแกนน้ำแข็งนั้นในช่วง 1,000 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์จากเอเอ็นยูกล่าวว่า สภาพอากาศที่หนาวที่สุดแถบขั้วโลกใต้ และปริมาณการละลายของน้ำแข็งในฤดูร้อนที่ต่ำที่สุด เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 600 ปีที่แล้ว อุณหภูมิในขณะนั้น ต่ำกว่าอุณหภูมิที่บันทึกไว้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ประมาณ 1.6 องศาเซลเซียส และปริมาณหิมะตกในแต่ละปีซึ่งละลายและแข็งตัวอีกครั้งอยู่ที่ร้อยละ 0.5
อย่างไรก็ดี พบว่า ปริมาณหิมะตกในแต่ละปี ซึ่งละลายและแข็งตัวอีกครั้งในปัจจุบันนั้น สูงกว่าถึงเกือบ 10 เท่า และพบว่าการละลายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20
ผลการวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience ถือเป็นการค้นพบการกลับคืนสภาพของแผ่นน้ำแข็งที่ละลายลงในอดีตในทวีปแอนตาร์กติกาเป็นครั้งที่สอง
นักวิจัยกล่าวว่า ผลวิจัยนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น เกี่ยวกับสาเหตุโดยตรงและโดยอ้อมที่ทำให้เกิดหิ้งน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง ไป จนถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก และยังมีนัยสำคัญถึงความไม่คงที่ของน้ำแข็งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
ด้านนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยสำรวจขั้วโลกใต้ของอังกฤษ กล่าวว่า การบันทึกความรุนแรงของการละลายของน้ำแข็งมีความสำคัญ เนื่องจากเริ่มมีการพบการถดถอยของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งในพื้นที่ดังกล่าว การละลายของน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน ถือเป็นกระบวนการหลักที่ทำให้ชั้นน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ละลาย ที่นำไปสู่การลดลงอย่างรวดเร็ว ที่เป็นตัวเร่งให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา