ทีมนักวิจัยญี่ปุ่น ใช้การตรวจเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) เพื่อเปิดเผยภาพต่างๆที่คนเราเห็น ขณะที่เราเข้าสู่ช่วงต้นของการหลับ
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร "Science" ระบุว่า ผลการตรวจสอบด้วยวิธีดังกล่าวมีความแม่นยำสูงถึง 60% ขณะที่ปัจจุบัน ทีมนักวิจัยต้องการทราบว่า กิจกรรมในสมอง สามารถใช้ในการถอดรหัสรูปแบบอื่นๆของความฝัน อาทิ อารมณ์ที่ต้องเผชิญในระหว่างนอนหลับ
ศาสตราจารย์ ยุคิฮาสุ คามิทานิ นักวิจัยอาวุโสประจำห้องทดลองประสาทวิทยาทางคอมพิวเตอร์ เอทีอาร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า เขามีความเชื่อว่าการถอดรหัสความฝันควรมีความเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็คือมุมมองที่มีต่อความฝัน และเขาไม่แปลกใจนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่รู้สึกตื่นเต้นมากกว่า
ผู้คนต่างพยายามที่จะเข้าใจความฝันมาตั้งแต่ยุคโบราณ แต่นักวิจัยที่ทำการศึกษาชิ้นนี้ได้พบว่ามีหนทางโดยตรงที่นำไปสู่ภาพแห่งความฝันจริงๆ
ทีมงานทดสอบอาสาสมัคร 3 ราย โดยให้มองและจดจำข้อมูลบางอย่าง ก่อนปล่อยให้นอนหลับ ซึ่งทีมงานจะใช้เครื่องเอ็มอาร์ไอในการแปรสัญญาณจากคลื่นสมองส่วนที่ยังคงทำงานอยู่ ในระยะแรกของการที่ร่างกายเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาหลับพักผ่อน
จากนั้น อาสาสมัครจะถูกปลุกให้ตื่นเพื่อสอบถามในสิ่งที่ได้เห็นขณะนอนหลับ ไม่ว่าผู้ที่หลับจะเห็นอะไร และดูเหนือจริงมากเพียงใดก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างจะได้รับการจดบันทึก ซึ่งกระบวนการเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากกว่า 200 ครั้ง ต่อผู้เข้าทดสอบแต่ละราย
นักวิจัยได้นำข้อมูลที่ได้ไปสร้างฐานข้อมูล และจัดกลุ่มสิ่งที่เห็นไว้เป็นจำพวก อาทิ บ้าน โรงแรม และอาคาร จะถูกจัดไว้ในกลุ่มสิ่งก่อสร้าง ต่อมาจึงทำการสแกนสมองอาสาสมัครอีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะทำในขณะที่ตื่นและมองภาพต่างๆบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีการเช่นนี้ นักวิจัยสามารถมองเห็นรูปแบบเฉพาะของกิจกรรมของสมอง ที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันกับภาพที่ปรากฏ
โดยในระหว่างการทดสอบสแกนสมองในการนอนหลับในรอบต่อไป นักวิจัยสามารถบอกได้ว่าพวกเขามองเห็นอะไรในความฝัน และสามารถเข้าถึงกลุ่มประเภทของภาพต่างๆ โดยมีความแม่นยำถึง 60%
ศ.คามิทานิแสดงความหวังว่า ผลการทดลองที่ได้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องถ่ายทอดความฝันของมนุษย์ที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่านี้อีก หลังเริ่มต้นโครงการดังกล่าวครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน
ขณะที่ปัจจุบัน นักวิจัยต้องการศึกษาการนอนหลับในระดับที่ซับซ้อนกว่าที่เป็นอยู่ หรือเข้าสู่ "สภาวะฝันที่ชัดแจ้ง" ที่ผู้ฝันสามารถควบคุมความฝันได้ เช่นเดียวกับการวิเคราะห์ว่า การสแกนสมองจะช่วยให้นักวิจัยสามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่น อารมณ์ สี และการกระทำ ที่แต่ละคนประสบในระหว่างที่ฝันได้หรือไม่