ทำอย่างไรดี…หัวหน้าชอบใช้คำพูดที่รุนแรง หรือพูดกระทบกระเทียบ แดกดันลูกน้องเสมอๆ จนต้องลาออกไปหลายรายแล้ว??
วิธีการดูคนนั้นต้องดูที่เจตนาของเขาก่อน อย่าดูว่าพฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไร ถ้าเรากับเขาคุ้นเคยกันดี แล้วเห็นว่าเจตนาของเขาไม่ได้ร้าย แต่กิริยาไม่น่ารัก เราต้องมองผ่านกิริยาไปถึงใจเขาก่อน ใจของเราจึงจะเปิดกว้างและวางอคติพอที่สื่อสารและขอร้องเขา เช่น…
“ถ้าเป็นไปได้ พี่จะให้โอกาสผมพูดอะไรหน่อยได้มั้ย ถ้าพี่ให้โอกาส ผมอยากจะบอกว่าผมพูดด้วยความทุกข์จริงๆ” นี่คือการเปิดเผยถึงความทุกข์ของเรา
“ทุกครั้งที่พี่พูด ทำให้ผมทุกข์ขณะฟัง และทุกข์ต่อเนื่องไปอีกหลายชั่วโมง ถ้าพี่จะช่วยให้ผมได้เข้าใจบ้างว่าสิ่งที่พี่กำลังจะเตือนผม หรือกำลังจะบอกผมนั้น พี่ต้องการให้ผมเปลี่ยนแปลงอะไรแล้วละก็ ขอให้พี่บอกกับผมตรงๆ เถิด”
นี่คือการบอกว่าเราไม่ได้ปฏิเสธการเตือนของเขา เพราะเรารู้เจตนาเขาดี แต่วิธีการของเขาทำให้เราประหวั่นพรั่นพรึง ฉะนั้น อย่าพูดว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นถูกหรือพูดผิด เขาพูดดังไปหรือพูดเบาไป สิ่งที่เขาพูดนั้นใช่หรือไม่ใช่ แต่ให้ดูที่เจตนาว่าเขาไม่มีเจตนาร้าย คำพูดของคนจะทำให้เกิดความสุขความทุกข์ได้ อยู่ที่การคิดปรุงแต่งไปเองของเรา
เราไม่ได้ทุกข์เพราะคำพูด แต่เราทุกข์เพราะเราคิดต่อสิ่งที่เราได้ยินอย่างไร ต่อให้เขาพูดร้าย เขานินทา แต่ถ้าเราไม่คิดกับสิ่งที่เราได้ยิน เราก็จะยังคงเป็นคนที่มีเสียงมากระทบหู แต่ใจยังรู้ ตื่น และเบิกบาน เสียงกระทบหู แต่จิตรู้ทันไหว ใจจึงตื่น นี้เป็นอาการของการปฏิบัติธรรมด้วย
สำหรับผู้ที่อยู่ในบทบาทของหัวหน้า เมื่อต้องการตักเตือนลูกน้อง ถ้าลูกน้องเป็นคนที่ศรัทธาเราบ้าง ฟังเราบ้าง เราอาจจะใช้การพูดตรงๆ เพื่อเตือน แต่ให้พูดด้วยน้ำเสียงหรือศิลปะที่ทำให้เขารู้ว่า เราไม่ได้มีเจตนาร้ายหรือรังเกียจ
การสอนนั้น ถ้าใจของเราไม่ขุ่นมัว จะทำให้คำพูดของเราศักดิ์สิทธิปัจจุบันคนเราไม่ค่อยฟังด้วยหัวใจ คือจะฟังด้วยหู จึงได้ยินแค่เสียง ดังนั้น แค่ได้ยินปลายเสียงห้วน หรือเสียงสะบัด ก็พร้อมจะหงุดหงิดทันที ไม่มีการแก้ไข ฉะนั้น ถ้าเรามีศิละในการสื่อสาร รู้วิธีการวางท่าทีของจิต และใจของเราศักดิ์สิทธิ์เพราะจิตที่ไม่ขุ่นมัว
ก็เชื่อว่าคนที่ได้ฟังการพูดการเตือนนั้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน