แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกหันหลังให้กับโทษประหารชีวิต แต่บางประเทศยังกำหนดโทษนี้ให้กับการมีเพศสัมพันธ์อย่างยินยอมนอกสมรส การต่อต้านรัฐบาล การดูหมิ่นศาสนา และแม้กระทั่งการดื่มสุรา
แม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศห้ามไม่ให้รัฐกำหนดโทษประหารชีวิตให้กับอาชญากรรมเหล่านี้ก็ตาม
ต่อไปนี้เป็นรายชื่อ “อาชญากรรม” ในบางประเทศที่มีผลให้คุณถูกประหารได้
1. การมีเพศสัมพันธ์อย่างยินยอมนอกสมรส
ในซูดาน อินติซาร์ ชารีฟ อับดุลลาห์ (Intisar Sharif Abdallah) และไลลา อิบราฮิม อิสซา จูมูล (Layla Ibrahim Issa Jumul) ผู้หญิงสองคนถูกศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยการขว้างก้อนหินในข้อหา “มีชู้” เป็นสองคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม 2555 คำตัดสินในทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากการไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีการบังคับให้ “สารภาพ” และต่อมาศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาและให้ปล่อยตัวผู้หญิงทั้งสองคน
ในอิหร่าน มีนักโทษในแดนประหารอย่างน้อย 10 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการขว้างก้อนหินสำหรับอาชญากรรมที่เป็น “การมีชู้”
2. การค้ายาเสพติด
ในวันที่ 30 มีนาคม 2555 โรเบิร์ต เฉินเสี้ยวเม (Robert Shan Shiao-may) จากฮ่องกง และเหลียนซุงชิง (Lien Sung-ching) จากไต้หวัน ถูกประหารชีวิตที่จีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งคู่ถูกศาลสั่งลงโทษเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 ในข้อหาค้ายาเสพติดหลังถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม 2548 โดยถูกกล่าวหาว่าส่งยาไอซ์จากจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านฮ่องกงไปฟิลิปปินส์
ในประเทศไทย อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของการสั่งลงโทษประหาร 106 ครั้งในปี 2555 เป็นการสั่งประหารชีวิตในคดียาเสพติด ทั้งนี้ตามตัวเลขของกรมราชทัณฑ์ของไทย
ในทำนองเดียวกันกว่า 70% ของการประหารชีวิตตามตัวเลขของทางการในอิหร่านเมื่อปี 2555 เป็นการประหารชีวิตตามความผิดด้านยาเสพติด
ในซาอุดิอาระเบีย ในปี 2555 มีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 22 คน (จากจำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิต 79 คนในปี 2555) เปรียบเทียบกับสามคนเมื่อปี 2554 (จากจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตทั้งหมด 82 คน) และมีเพียงคนเดียว (จากจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตทั้งหมด 27 คน) ในปี 2553
3. อาชญากรรมของคนทำงานออฟฟิศ
ในเดือนเมษายน 2555 ศาลสูงสุดแห่งประชาชนจีนสั่งให้มีการไต่สวนคดีใหม่ในคดีที่สำคัญต่อหวูชิง (Wu Ying) นักธุรกิจหญิง ซึ่งเคยถูกศาลสั่งลงโทษประหารในข้อหา “ฉ้อโกงจากการระดมทุน” ซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต และต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนเมื่อเดือน มกราคม 2555
ในอิหร่าน ศาลสั่งประหารชีวิตชายสี่คนในเดือนกรกฎาคม 2555 ในข้อหาคอร์รัปชั่นและ “สร้างความเสียหายต่อระบบ
เศรษฐกิจประเทศ” เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับความการฉ้อโกงในวงการธนาคาร
4. การต่อต้านรัฐบาล
จาลิลา คามิส โคโค (Jalila Khamis Koko) ครูและนักเคลื่อนไหวชาวซูดานถูกจับกุมเมื่อเดือนมีนาคม 2555 และถูกตั้งข้อหาในเดือนธันวาคม ส่วนหนึ่งได้แก่ “การล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ” และ “การทำสงครามกับรัฐ” ซึ่งมีโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของซูดาน ในปี 2554 เธอสมัครเป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับ
ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขัดกันด้วยอาวุธในรัฐโคโดฟานใต้ของซูดาน และมีภาพอยู่ในคลิปวีดิโอในยูทิวบ์ โดยเธอได้ประณามสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ที่มีสงคราม และเรียกร้องให้มีการหยุดยิง หลังได้รับการยกฟ้องในข้อหาดังกล่าว และถูกตัดสินลงโทษในข้อหาที่เบากว่าเธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมรกาคม 2556
ในปี 2555 ศาลสูงสุดของอิหร่านพิพากษายืนให้ประหารชีวิตโคลัมเรซา โคซาวี ซาหวัดจานี (Gholamreza Khosravi Savadjani) ในข้อหา “เป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า” เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรโมจาฮีดินแห่งประชาชนของอิหร่าน (Peoples’ Mojahedin Organization of Iran - PMOI) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอิหร่านที่ถูกทางการประกาศว่าผิดกฎหมาย เดิมเขาถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก และภายหลังการไต่สวนคดีใหม่สองครั้ง ศาลกำหนดโทษประหารให้กับเขา
5. การดูหมิ่นหรือการละทิ้งศาสนา
ในอิหร่าน ซาอีด มาเล็กปูร์ (Saeed Malekpour) นักจัดทำเว็บไซต์ถูกศาลสั่งประหารชีวิตในปี 2553 ในข้อหา “ดูหมิ่นและเหยียดหยามศาสนาอิสลาม” หลังจากที่เขาได้จัดทำซอฟต์แวร์ และต่อมามีการนำซอฟต์แวร์นั้นไปใช้เพื่อเผยแพร่ภาพลามกอนาจารทางอินเตอร์เน็ต โดยเขาไม่มีส่วนรู้เห็น มีรายงานข่าวว่า ในเดือนธันวาคม มีการสั่งพักโทษประหารของเขา หลังจากเขาได้เข้าสู่ขั้นตอนการขออภัยโทษ โดยมีรายงานข่าวว่าเขา “แสดงความสำนึกผิด” ต่อการกระทำของตนเอง แต่ครอบครัวปฏิเสธข่าวดังกล่าว
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาราอีฟ บาดาวี (Raif Badawi) นักเคลื่อนไหวทางอินเตอร์เน็ตได้ถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหา “ละทิ้งศาสนา” ในซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่เขาจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้มีการถกเถียงด้านการเมืองและสังคม ต่อมาในปี 2556 มีการเพิกถอนข้อหาของเขา ดูเหมือนว่าการตั้งข้อหากับเขาเป็นความพยายามของรัฐที่จะข่มขู่คุกคามคนที่พยายามส่งเสริมให้มีการถกเถียงอย่างเปิดเผย
นอกจากอาชญากรรมทั้งห้าประการแล้ว ยังมีความผิดทางอาญาอื่น ๆ อีก ในบางประเทศ การดื่มสุราอาจทำให้ถูกประหารชีวิตก็ได้
เมื่อเดือนมิถุนายนที่แล้ว ศาลสูงสุดแห่งอิหร่านพิพากษายืนให้ประหารชีวิตผู้ชายสองคนที่ถูกไต่สวนว่ามีความผิดในข้อหาดื่มสุราเป็นครั้งที่สาม ซึ่งเป็นการลงโทษที่ไม่ค่อยพบเห็น และในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมายังไม่เคยมีการประหารชีวิตตามความผิดดังกล่าว
และในเกาหลีเหนือ มีรายงานที่ไม่ยืนยันว่ามีการประหารชีวิตเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงกลาโหมเมื่อเดือนตุลาคมที่แล้วในข้อหาดื่มสุรา ในช่วงที่ทางการประกาศให้ไว้อาลัยเป็นเวลา 100 วันหลังการถึงแก่อสัญกรรมของนายคิมจองอิล ผู้นำประเทศ