ไข้หวัดนก เป็นโรคที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะเป็นเชื้อไวรัส ที่ถือว่ามีความรุนแรงเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตสูง
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้อธิบายถึงเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ว่า ไวรัสจะมีสายพันธุกรรม 2 กลุ่มใหญ่ คือ Hemaqutinin (H) และ Neuraminidase (N) ซึ่งจะสามารถแยกย่อยลงไปอีก คือ H มีกลุ่มย่อย 1-16 และ N มีกลุ่มย่อย 1-9 การเรียกไวรัสสายพันธุกรรมที่พบ จึงเรียกโดยใช้รหัสเป็นตัวกำกับ เช่น H5N1 , H7N9 โดยไวรัสสามารถผสมผสานโปรตีนหลายรูปแบบ
สำหรับกลุ่มไวรัสที่พบในคนจะเป็นกลุ่ม H1 , H2 , H3 กลุ่มไวรัสที่พบในสัตว์ คือ H5 , H7 ซึ่งเป็นกลุ่มไวรัสที่มีความรุนแรงมากหากเกิดในสัตว์ จะทำให้สัตว์ล้มตายเป็นจำนวนมาก และถ้าข้ามมาเกิดในคน ก็จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรง ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีไข้ ไอ หายใจลำบาก และปอดอักเสบรุนแรง
WHO CollaboratingCenter ของประเทศจีนแนะนำว่ายา Neuraminidase Inhibitors (Oseltamivir and Zanamivir) ยังสามารถใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อได้ เนื่องจากในวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในปี 2013 นี้ ไม่ได้ป้องกันไวรัสสายพันธุ์ H7N9 ที่กำลังระบาดในประเทศจีน
ดังนั้นการปฏิบัติตนให้ห่างไกลโรคไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งสามารถทำได้โดยง่าย คือ
1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาด
2. ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการหวัด หรือควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น
6. ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด