พระโคในพระราชพิธีแรกนาขวัญถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ในการพยากรณ์สถานการณ์ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่า และพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา กล่าวถึงความสำคัญของพระโคว่า พระโค ในทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และหมายถึงสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้มีพระโค เพศผู้เข้าร่วมพิธีเสมอมา เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
สำหรับพระโคที่ใช้ในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนั้น ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี กรมปศุสัตว์ จะดำเนินการคัดเลือก โดยในแต่ละปีจะคัดเลือกไว้จำนวน 2 คู่ เป็นพระโคแรกนา 1 คู่ และพระโคสำรอง 1 คู่ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพระโค คือ ต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ สูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัว ไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร ซึ่งโคทั้งคู่ต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะเห็นเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม ทั้งนี้ ปัจจุบันพระโคที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีฯ ส่วนมากจะเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน ที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่เกษตรกรภาคเหนือ เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็นโคที่มีลักษณะดีตรงตามตำราดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งในปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า พระโคใส และพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคมั่น พระโคคง
ด้านนายสาโรช งามขำ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี กรมปศุสัตว์ กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการคัดเลือกพระโคว่า ต้องมีลักษณะขวัญ 5 จุดที่สำคัญ ได้แก่ ขวัญที่หน้าผาก ขวัญที่โคนหู 2 ข้าง เรียกว่า ขวัญทัดดอกไม้ ส่วนขวัญที่หลังตรง ที่ใช้สะพายทับ เรียกว่า ขวัญสะพายทับ อีกขวัญหนึ่งจะอยู่ที่กลางหลัง เรียกว่า ขวัญจักรกะ จะเป็นขวัญที่ค่อนมาทางหัวไม่ไปทางด้านท้ายลำตัว ทั้งนี้ เมื่อคัดเลือกพระโคแล้ว จะมีการรีดน้ำเชื้อเก็บไว้ เพื่อนำน้ำเชื้อไปผสมพันธุ์ต่อไป จากนั้นจะทำหมัน เพื่อช่วยลดความก้าวร้าว ดื้อ และไม่เชื่อฟัง
นายสาโรช กล่าวอีกว่า สำหรับการเลี้ยงดูเมื่อมีผู้นำมาถวายเป็นพระโคแล้ว จะเน้นเรื่องสุขภาพให้แข็งแรง สมบูรณ์ แต่การออกกำลังกายและให้อาหารของพระโคไม่ได้พิเศษไปกว่าโคทั่วไป แต่จะแตกต่างตรงที่การอาบน้ำ โดยพระโคจะอาบน้ำทุกวัน เพื่อช่วยลดกลิ่นเหงื่อ กลิ่นไคล กลิ่นที่จะล่อแมลง ซึ่งจะทำให้แมลงรบกวนน้อยลง ไม่อับชื้น พระโคจะสบายตัวขึ้น และเมื่อใกล้งานพระราชพิธีก็จะทำการซ้อมไถ ซึ่งจะฝึกซ้อมก่อนถึงวันพระราชพิธีประมาณ 2 เดือน หรือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยการนำพระโคที่มีอายุมากมาประกบหนึ่งต่อหนึ่ง ให้ไถและลากไปด้วยกัน แบบพี่สอนน้อง เมื่อสอนได้แล้ว จะจับแยกคู่ โดยจะให้ประกบคู่ของตนเองและซ้อมไถวันละ 20 รอบ ประกอบกับต้องเปิดดนตรีมโหรีที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีควบคู่ไปกับการซ้อมไถด้วย เพื่อสร้างความคุ้นชินให้กับพระโค นอกจากนี้ ต้องนำพระโคมาอยู่ที่ท้องสนามหลวงก่อนวันงานจริงประมาณ 10 วัน เพื่อให้พระโคปรับสภาพ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ เพราะถ้านำพระโคมาใกล้วันจริงมากเกินไป พระโคมีเวลาปรับตัวน้อย อาจเกิดปัญหาขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและวันเกษตรกร เปรียบเสมือนขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรได้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในแต่ละปี เพราะการที่พระโคกินของเสี่ยงทายทั้ง 7 อย่าง ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำ และเหล้า ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยในการแนะแนวทาง รวมทั้งเป็นการตั้งรับ และแก้ไข ตลอดจนสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพในปีนั้นๆ ต่อไป.