ไม่ว่าจะเป็น เบียร์ ไวน์ หรือเหล้า ต่างก็เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม และเมื่อดื่มเข้าไปแล้วมันจะดูดซึมเข้าไปในร่างกายอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยน้ำย่อยก็แทรกซึมไปทั่ว ยิ่งดื่มมากและเข้มข้นก็จะมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดและลมหายใจสูง นั่นแสดงว่าเมาเข้าแล้ว
เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาหยกๆ คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่นอกจากฉลองด้วยการสาดน้ำแล้วยังชอบดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ควบคู่กันไปด้วย ทราบกันหรือไม่ว่าทำไมบางคนเมาง่าย แต่บางคนเมาช้ากว่าข้อมูลจากเว็บไซต์เมาไม่ขับ (http://www.ddd.or.th/) บอกไว้ว่า
ข้อแรก พฤติกรรมการดื่ม เครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 20% โดยปริมาตรจะถูกดูดซึมเข้าเลือดได้ดีที่สุด ถ้าเข้มข้นสูงกว่านี้ แอลกอฮอล์จะไปกดอัตราการเปิดของวาล์วท้ายกระเพาะที่เชื่อมระหว่างกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กให้ทำงานช้าลง ทำให้การดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าระบบเลือดช้า ระดับของแอลกอฮอล์ในลมหายใจจะต่ำ
ถัดมาเป็นเรื่องของ เวลา ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แบบช้าๆ ค่อยๆ ดื่มไป จะทำให้อัตราการเพิ่มของแอลกอฮอล์ในเลือดเท่ากับอัตราการทำลายแอลกอฮอล์ของตับ ซึ่งจะมีผลทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดต่ำ พูดง่ายๆ ก็คือเว้นระยะในการดื่มสักหน่อย เมาน้อยหน่อย
ข้อสาม อาหารในกระเพาะ ถ้าในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กไม่มีอาหารอยู่จะมีผลทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมได้เร็ว (ทำให้เมาเร็ว) แต่ถ้ามีอาหารที่มีไขมันมากจะทำให้การดูดซึมช้า ดังนั้น จึงควรกินกับแกล้มเข้าไปด้วย อย่าดื่มเพียวๆ
ข้อสี่ น้ำหนักของร่างกาย เนื่องจากร่างกายคนเราประกอบด้วยน้ำ 2 ใน 3 ส่วน ฉะนั้นคนที่น้ำหนักมาก เมื่อแอลอฮอล์ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย จะทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดมีความเข้มข้นน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักเบา คนอ้วนจะมีน้ำในร่างกายน้อยกว่าคนผอมถ้าน้ำหนักเท่ากัน เนื่องจากแอลกอฮอล์จะละลายได้น้อยในไขมันเมื่อเทียบกับน้ำ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดคนอ้วนจะสูงกว่าคนผอมเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มี ส่วนผสมของแอลกอฮอล์เท่ากัน
สรุปว่าต้องดื่มแต่น้อย คอยเว้นระยะ กระเพาะต้องมีกับแกล้มสำรองไว้ ใครอ้วนมากก็เมาไว