แม้ว่าดวงตาจะอยู่ในเบ้าตา ซึ่งมีโครงกระดูกปกป้องภยันตรายอย่างดี มีหนังตาคอยปิดป้องกันฝุ่นละอองหรืออันตรายอื่นๆ แต่อุบั ติเหตุหรือความประมาทเลินเล่อก็อาจจะเป็นเหตุให้มีสิ่งแปลกปลอมมาสัมผัสกับดวงตาได้เสมอ ความรู้เรื่องวิธีการดูแลเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น
สิ่งแปลกปลอมที่เยื่อบุตาขาว
มักจะเกิดจากวัตถุเล็กๆ ปลิวเข้าตา เช่น ฝุ่นละออง เศษดิน ปีกแมลง เศษผง ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บตา ระคายเคืองตาทันที แต่บางครั้งอาการอาจจะไม่มากนัก พอที่จะลืมตาได้เอง
วิธีดูแลเบื้องต้น ใช้ไฟฉายส่องดูว่ามีเศษวัสดุติด อยู่บริเวณไหนของเยื่อบุตา ส่วนวิธีที่เอาออกง่ายๆ คือ การลืมตาในน้ำหรือล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที หากอาการเคืองยังไม่หาย และเห็นวัสดุแปลกปลอมอยู่ ให้ใช้ไม้พันสำลีสะอาดเขี่ยออก แต่ถ้าเศษวัสดุนั้นติดแน่นอาจใช้คีมขนาดเล็กๆ คีบออก หรือหากมีเข็มอาจใช้เข็มค่อยๆ เขี่ยออก เพราะโดยปกติเยื่อบุตาขาวจะไม่ค่อยไวต่อความรู้สึก เมื่อเอาเข็มเขี่ยจะเจ็บไม่มาก จึงพอทำได้โดยไม่ต้องใช้ยาชาหยอด แต่ถ้ามียาชาชนิดหยอดช่วยจะทำให้เขี่ยออกได้ง่ายขึ้น หากเขี่ยไม่ออกหรือเมื่อเอาออกแล้วยังเจ็บเคืองตามาก ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
อนึ่ง มีเศษผงบางชนิดอาจติดที่เยื่อบุตาใต้หนังตา ซึ่งต้องพลิกหนังตาถึงจะเห็นผง ดังนั้นหากเอาไฟฉายส่องแล้วไม่พบเศษผง แต่ผู้ป่วยยังเจ็บเคืองตาอยู่ โดยเฉพาะเวลากระพริบตา ควรต้องพลิกหนังตาดูว่ามีเศษผงติดอยู่ด้านในหรือไม่ หากพบก็มักใช้ไม้พันสำลีเขี่ยออกได้ไม่ยาก
เศษผงติดที่กระจกตาหรือตาดำ
หากมีเศษผงติดอยู่ที่บริเวณนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บและเคืองตามากทันที ด้วยเหตุที่กระจกตามีประสาทรับความรู้สึกมากกว่าเยื่อบุตา โดยเศษผงที่มักติดอยู่ที่กระจกตาอาจเป็นเศษเหล็ก ซึ่งผิวขรุขระจึงเกาะและฝังอยู่ที่กระจกตาได้ง่าย และหากปล่อยทิ้งไว้จะมีสนิมเหล็กรอบๆ ในเวลาต่อมา หรืออาจจะเป็นแมลงปีกแข็ง โดยปีกอาจฝังอยู่และเกาะแน่น เช่นเดียวกับเศษไม้ที่มีขอบคมก็อาจฝังอยู่ได้ โดยวัตถุที่มีสีคล้ำอย่างเศษเหล็ก ปีกแมลง จะมองเห็นได้ง่ายด้วยไฟฉาย แต่หากเป็นวัสดุสีใส เช่น แก้วหรือพลาสติกอาจมองเห็นได้ยาก ต้องใช้ไฟฉายส่องหลายๆ มุม จึงจะมีเงาให้เห็น
วิธีดูแลเบื้องต้น หากพบหรือสงสัยว่ามีเศษผงติดที่กระจกตาให้ลองใช้น้ำสะอาดล้าง แต่หากจะลองเขี่ยออกเองต้องใช้ยาชาหยอดก่อน มิเช่นนั้นจะทำได้ยาก ถ้าไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์จะปลอดภัยกว่า เพราะบางครั้งการเขี่ยผงที่ตาดำกันเองอาจเป็นเหตุให้ผงฝังลึกลงไปอีก ซึ่งจะเขี่ยออกได้ยากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ แม้จะเอาผงที่ติดอยู่ที่กระจกตาออกได้แล้ว ก็ต้องคอยสังเกตอาการ เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อตามมาได้ โดยแผลติดเชื้อของกระจกตาเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง และมักพบในผู้ที่มีประวัติผงเข้าตานำมาเสนอ
สารเคมีเข้าตา
โดยอาจจะเป็นสารเคมีอ่อนๆ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ แก๊สน้ำตาหรือวัตถุอันตรายที่รุนแรงกว่า เช่น น้ำกรดจากแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น หากสารเคมีที่เข้าตาเป็นสารเคมีอ่อนๆ ก็อาจทำลายเฉพาะผิวๆ ได้แก่ เยื่อบุตาหรือผิวหน้าของกระจกตาเท่านั้น แต่ถ้าเป็นกรดหรือด่างที่เข้มข้นก็อาจจะทะลุทะลวงผ่านกระจกตาเข้าไปทำลายสิ่งที่อยู่ภายในดวงตาอย่างม่านตา แก้วตา และก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงภายในดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้
โดยความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับดวงตาขึ้นอยู่กับ
• ขนาดพื้นผิวตาที่มีสัมผัสและระยะเวลาที่สารเคมีอยู่ในตา
• ชนิดของสารเคมี โดยทั่วไปด่างจะรุนแรงกว่ากรด และยิ่งสารเคมีมีความเข้มข้นมากก็จะยิ่งมีอันตรายมาก
• ความลึกที่สารเคมีซึมผ่าน โดยด่างจะมีความสามารถในการทะลุทะลวงได้ลึกกว่ากรด
• บริเวณที่สัมผัสสารเคมี หากเป็นบริเวณตาขาวต่อตาดำจะมีโอกาสถูกสารเคมีทำลายมาก และกระจกตาจะหายคืนสู่สภาพปกติได้ยาก เพราะเป็นบริเวณของ Stem Cell ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์บุผิวกระจกตา
สำหรับอันตรายของสารเคมีที่ควรระวัง ได้แก่
สารเคมีประเภทด่าง
- NH4OH เป็นด่างที่ทำลายดวงตาได้รุนแรงที่สุด เพราะสามารถซึมผ่านกระจกตาได้ทันทีและรวดเร็ว NH4OH มักอยู่ในรูปของแอมโมเนียที่พบได้ในปุ๋ย สารทำความเย็น สารทำความสะอาด ซึ่งเมื่อรวมกับน้ำจะเกิดไอระเหยของ NH4OH ซึมเข้าตาอย่างรวดเร็ว และทำอันตรายต่อดวงตาได้มาก
- โซดาไฟ (NaOH) พบในน้ำยาทำความสะอาดล้างท่อ เป็นด่างที่รุนแรงมาก
- แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ เป็นด่างที่มีอยู่ในดอกไม้ไฟ ไม่ค่อยรุนแรง แต่อาจมีผลเสียจากความร้อนได้
- ปูนขาว ปูนซีเมนต์ ปูนฉาบผนัง เป็นสาร Ca (OH)2 อันตรายจากสารเคมีประเภทนี้มักเกิดขึ้นบ่อยกับช่างปูน โดยมักมีความรุนแรงมากขึ้น ถ้ายังมีเศษปูนค้างอยู่
สารเคมีประเภทกรด
- กรดซัลฟูริค (H2SO4) พบในแบตเตอรี่รถยนต์ น้ำยาทำความสะอาดในภาคอุตสาหกรรม มีอันตรายต่อตาปานกลาง
- กรดซัลฟูรัส (H2SO3) มาจากสารที่ใช้กันบูดในผักหรือผลไม้ โดยถ้ารวมกับน้ำจะได้ซัลเฟอร์ ซึ่งซึมเข้าตาได้ง่าย
- กรดกัดกระจก (HF) มีในสารขัดกระจก กลั่นแร่ การปรับคุณภาพน้ำมันเบนซิน การผลิตซิลิโคน
- กรดน้ำส้ม ได้แก่ น้ำส้มสายชู กรดอะเซติคในน้ำแข็ง มีความรุนแรงไม่มากนัก
- กรดโครมิค พบในอุตสาหกรรมชุบโครเมี่ยม ทำให้เยื่อบุตาขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
- กรดเกลือ ที่ใช้เป็นสารละลาย
วิธีดูแลเบื้องต้น การรู้แหล่งที่มาของสารเคมีต้นเหตุและความรุนแรงของอุบัติเหตุ จะช่วยในการประเมินความเสียหายต่อดวงตา เช่น คุณแม่บ้านถูกน้ำส้มสายชูกระเด็นเข้าตาน่าจะเกิดจากกรดน้ำส้มที่ไม่ค่อยรุนแรง เมื่อเทียบกับคนงานล้างท่อถูกน้ำยาล้างท่อกระเด็นเข้าตา ซึ่งน่าจะเกิดจากโซดาไฟที่เป็นด่างอันตรายรุนแรง สำหรับวิธีการดูแลอันดับแรกที่ต้องทำด่วนคือ การขจัดสารเคมีออกจากตาโดยเร็วที่สุด โดยการล้างตาด้วยน้ำสะอาดที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด ล้างบ่อยๆ และนานพอ รวมถึงต้องไปพบแพทย์ ซึ่งมักจะต้องล้างตาซ้ำอีก เพื่อล้างทุกซอกให้สารเคมีหมดไปจากตา แล้วประเมินพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นเพื่อการรักษาต่อไป หากเป็นสารเคมีที่ไม่รุนแรง เช่น น้ำส้มสายชู หรือน้ำยาล้างจานกระเด็น การล้างตาอาจทำให้หายเป็นปกติได้โดยเร็ว อย่าเข้าใจผิดว่า ถ้ากรดเข้าตาต้องเอาด่างเข้าไปล้างเด็ดขาด เพราะจะเกิดการทำลายอย่างรุนแรงจากสารเคมีทั้ง 2 ตัว ร่วมกับถูกความร้อนที่เกิดขึ้นทำลายตามากขึ้นไปอีก
สิ่งแปลกปลอมภายในลูกตา
มักจะเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรงที่ทำให้เกิดแผลฉีกขาดของลูกตา โดยอาจจะเป็นการฉีกขาดของกระจกตาหรือ ตาขาว ทำให้เศษวัสดุแปลกปลอมผ่านรูฉีกขาดเข้าไปฝังอยู่ภายในลูกตา การบาดเจ็บลักษณะนี้มักจะมีประวัติชัดเจน เช่น เกิดจากการตอกตะปู โดนระเบิด ทำให้มีอาการเจ็บปวดและตามัวลง รวมถึงควรตรวจพบรอยฉีกขาด แต่ในบางครั้งรูที่ขาดอาจเล็กมากและแผลปิดได้เอง หรือถ้าเป็นเศษเหล็กชิ้นเล็กๆ ในตอนแรกอาจไม่มีอาการอะไรเลย
วิธีการดูแล หากมีประวัติว่าตอกตะปูแล้วคล้ายมีอะไรกระเด็นเข้าตา ต้องได้รับการตรวจตาจากแพทย์อย่างละเอียด หรือในบางครั้งอาจต้องใช้เอ็กซเรย์ช่วยตรวจว่ามีเศษเหล็กฝังอยู่หรือไม่ โดยหากเศษวัสดุที่ฝังอยู่ในตาเป็นเหล็กหรือทองแดงก็จำเป็นต้องเอาออก เพราะตาจะอักเสบรุนแรงหากทิ้งไว้ และทำให้ตาบอดได้ในภายหลัง เนื่องจากทั้งเหล็กและทองแดงจะทำลายภายในดวงตาได้ ต่างจากทองคำ เช่น ตะกั่ว อาจจะไม่เกิดปฏิกิริยามากนัก ถ้าฝังอยู่ในที่ไม่อันตรายอาจปล่อยทิ้งไว้ในตาได้ อย่างไรก็ตาม การมีวัสดุแปลกปลอมภายในตาทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะวัสดุดังกล่าวจะนำเอาเชื้อโรคเข้าไปด้วย จึงต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือหากสงสัยว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาต้องไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจหาอย่างละเอียด
ที่มา...HealthToday