“ไก่” กับ “ไข่” อะไรมาก่อนกันครับ ถามใครดู ก็คงไม่มีใครยอมใคร เหมือนจะเป็นปัญหาโลกแตกนะครับ
ถ้า ไปถามในรายการ “ถ้าคุณแน่…อย่าแพ้ ป.4” คำถามรอบ แจ๊คพ๊อต ก็จะได้คำตอบว่า “ไก่” มาก่อน “ไข่” แน่นอน เพราะถ้าเรียงตามพยัญชนะไทย 44 ตัวแล้ว ก.ไก่ ต้องมาก่อน ข.ไข่ (ป.4 แล้วก็ 44 ตัว…มีแต่เลข 4…ใบ้หวยหรือเปล่านี่!)
การล้างไข่ผิดตรงไหน ?
ปุจฉา : คุณแม่ซื้อไข่ (ฟอง) มาจากตลาดสดข้างบ้าน ทั้งแบบโอทอป (OTOP :One Taksin One Pochaman) เอสเอ็มอี (SME) โชว์ห่วย หรือ ตลาดสดติดแอร์แบบ 7 eleven, Mini mart, Fresh mart Carrefour, Lotus, Big C, หรือ TOPS (ไม่ได้ค่าโฆษณาหรอกนะ) ควรจะล้างก่อนเก็บไหม?
วิ สัจชนา : ทั้งนี้ คงจะต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของคุณแม่ครับ ตอบอย่างนี้ นี่กวนประสาทนะ ไม่ได้กวนประสาทครับ เพราะกลุ่มประเทศยุโรปไม่อนุญาตให้มีการล้างไข่สำหรับบริโภค ตรงกันข้ามกับหลายๆ ประเทศที่ให้มีการล้างทำความสะอาดไข่ได้ จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า ควรจะล้างหรือไม่ควรล้างไข่ครับ
สำหรับ คุณแม่ที่ต้องการล้างฟองไข่ก่อนจะเก็บ คงเพราะคิดว่าต้องการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อาจจะติดมากับฟองไข่ ตลอดการเดินทางของฟองไข่จากก้นแม่ไก่มาจนถึงมือคุณแม่ ความคิดนี้ก็ไม่ผิดเลยครับ และการล้างฟองไข่ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการกำจัดทั้งเชื้อโรค และสิ่งสกปรกได้เป็นอย่างดี ทำให้เก็บไข่ได้นานขึ้นอีก เพราะเชื้อที่จะทำให้ไข่เสียหรือเน่า ถูกเฉดหัวออกจากบ้านทรายทองของฟองไข่ไปแล้ว แต่มีหมายเหตุนิดหนึ่งว่า คุณแม่จะต้องล้างฟองไข่ให้ถูกวิธีนะครับ จึงจะสัมฤทธิ์ผลตามที่มุ่งมาดปรารถนากันในปฐมความคิด
ปุจฉา : ผลพวงที่เกิดจากการล้างฟองไข่ที่ไม่ถูกวิธีเป็นไงบ้างครับ
วิ สัจชนา : ไม่เพียงแต่ความฝันอันสูงส่งของคุณแม่ที่จะได้เก็บไข่ที่สะอาดจะไปไม่ถึง ดวงดาวแล้ว การล้างฟองไข่แบบไม่ถูกวิธีจะยิ่งทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกแทรกซึมฝังตัว ลึกเข้าไปถึงด้านในของเปลือกไข่ซะอีก หลังจากนี้ แม้จะใช้ผงซักฟอกยี่ห้อไหน ที่โฆษณากันว่าสามารถขจัดคราบฝังลึกได้ ก็คงจะเอาเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกในเปลือกไข่ออกได้ยากครับ
ผล ที่ตามมา คือ การล้างฟองไข่ที่ไม่ถูกวิธี จะเป็นการเพิ่มจำนวนเชื้อโรคในฟองไข่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ไข่ฟองที่ไม่มีเชื้อเลยตอนก่อนล้าง ก็พลันได้รับอานิสงส์เชื้อโรคหรือเชื้อจากไข่ฟองที่สกปรกโดยที่ตัวเองมิได้ ทำอะไรทั้งสิ้น ท้ายสุดไข่ฟองที่มีเชื้ออยู่เยอะแยะรอบฟองไข่ แต่ยังไม่ได้มีโอกาสเข้าไปเจาะไข่แดง ก็ฉกฉวยโอกาสอันดี ขณะที่คุณแม่ช่วยส่งกำลังใจและแรงเชียร์ ให้เชื้อโรคที่เปลือกไข่ถูกดูดพร้อมกับน้ำล้างฟองไข่ โดยผ่านรูพรุนที่เปลือกไข่ เข้ามาด้านในของเปลือกไข่นั่นแหละครับ เห็นเส้นทางลำเลียงคลังแสง อาวุธของเชื้อโรคผ่านเข้าสู่กองบัญชาการหลักของฟองไข่แล้วนะครับ
เทคนิคการล้างทำความสะอาดไข่
ล้างไข่ทุกฟองพร้อมๆ กัน เมื่อ เราตัดสินใจแล้วว่า จะล้างไข่แล้วไซร้ ก็อย่าลังเลใจ สองมือสอดกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามา เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ไข่ที่ดูเหมือนว่าสะอาด (โดยมิได้ล้าง) แต่อาจจะมีเชื้อโรคฝังตัวอยู่ทั้งภายนอกและภายในเปลือกไข่ เพราะเรามองไม่เห็นเชื้อโรคได้ด้วยตาเปล่า จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับไข่ที่ล้างอย่างสะอาดและถูกต้อง
ล้างฟองไข่ในน้ำที่อุ่นหรือมีอุณหภูมิสูงกว่าฟองไข่ ส่วน ใหญ่แล้ว เวลาคุณแม่ล้างไข่ ก็ใช้น้ำประปาที่เปิดจากก๊อกน้ำโดยตรงล้างไข่ในกะละมังเลย ถูกไหมครับ หมอขอแนะนิดหนึ่งว่า ควรใช้น้ำที่อุ่นหรืออุณหภูมิสูงกว่าฟองไข่มาล้างครับ (ระวังอย่าใช้น้ำร้อน เดี๋ยวจะกลายเป็นลวกไข่แทน) เพราะการใช้น้ำที่อุ่นกว่าจะค่อยๆ ทำให้ไข่อุ่นขึ้นตามอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ล้าง เมื่อไข่อุ่นขึ้นก็จะขยายตัวดันออกสู่ภายนอก เป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกในน้ำที่ล้างเข้ามาภายในฟองไข่ คราวนี้ถ้าใช้น้ำประปาโดยตรงจากก๊อกน้ำ ความเย็นจากน้ำจะค่อยๆ ทำให้ไข่หดตัวลง (ลองถามท่านพ่อบ้านดูว่าจริงหรือเปล่า?) เกิดแรงดูดจากภายนอกเข้าสู่ภายใน (นักฟิสิกส์ช่วยยืนยันให้ด้วยนะครับ) ดังนั้น เชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่ตอนแรกอยู่ที่เปลือกไข่ดีๆ ยังไม่ได้เข้าไปในฟองไข่ ตอนนี้ได้โอกาสทอง เชื้อโรคทั้งหลายก็ “ได้เฮ’ ถูกดูดกลับไปที่เปลือกไข่ก่อน แล้วผ่านรูที่เปลือกไข่ ได้เช็กอินเข้าโรงแรม ไปตีพุงอาศัยอยู่อย่างสบายใจในเนื้อไข่เลย คราวนี้แทนที่จะเอาเชื้อโรคออกจากไข่ กลับไปเชื้อเชิญเชื้อโรคเข้ามาร่วมสังฆกรรมในฟองไข่ อย่างนี้ไม่เรียกว่า ทำให้ไข่เสีย ไข่เน่า เร็วขึ้น ก็ไม่รู้จะเรียกว่ายังไงแล้วครับ
พยายามเปลี่ยนน้ำให้บ่อย เชื้อ โรคและสิ่งสกปรกจากไข่ฟองแรกๆ ที่ออกมารวมพลกันอยู่ในน้ำ ก็จะสะสมกำลังพลมากขึ้นเรื่อยๆ จากกองสิบก็จะกลายเป็นกองร้อย หรือกองทัพไปโน่นเลย ทำให้ไข่ฟองท้ายๆ ที่ตอนก่อนล้าง อาจจะสะอาดกว่าไข่ฟองแรกๆ แต่ต้องพลอยฟ้าพลอยฝน มีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกมาเยี่ยม มาจับเกาะจนหัวกระไดไม่แห้งก็เป็นได้ครับ
ไม่ล้างไข่มากเกินไป จะไปชะล้างกำจัดเมือกเคลือบไข่ ทำให้ระบบป้องกันตัวเองของฟองไข่ที่แม่ไก่ให้มาตั้งแต่แรกเกิดสูญเสียไป
ทำให้ไข่แห้งและเย็นเร็วที่สุดหลังการล้าง ความ ชื้นที่เปลือกไข่และอุณหภูมิห้อง ทำให้เปลือกไข่มีโอกาสจับสิ่งสกปรกที่อาจจะสัมผัสกับเปลือกไข่ หรือ จับกระทั่งสิ่งสกปรก เชื้อโรค ที่อาจจะล่องลอยเท้งเต้งอยู่ในอากาศ ทำให้เชื้อโรคที่อาจจะกำจัดออกไปไม่หมดหรือที่มากับอากาศ อาศัยความชื้นสร้างสภาวะที่เหมาะสม มีโอกาสเพิ่มจำนวน ขยายวงศ์พงศ์เผ่าของเชื้อโรคได้