รู้ๆ กันอยู่ว่า แคลเซียม มีประโยชน์แก่ร่างกาย เพราะช่วยให้กระดูกแข็งแรง ไม่พุกร่อนง่าย ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ก็มีงานวิจัยที่เผยว่า
แคลเซียมสามารถช่วยต่อต้านโรคความดันโลหิตสูง อาการหัวใจกำเริบ อาการปวดก่อนมีประจำเดือน และมะเร็งลำไส้ ดังนั้น การเสริมสารอาหารตัวนี้ให้แก่ร่างกายจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่อีแมกกาซีนก็อยากให้คุณคำนึงถึงด้วยว่า ในแต่ละวัยก็ควรได้รับปริมาณของแคลเซียมที่แตกต่างกันไป
วัยเด็ก
ลูกหลานของคุณมีความต้องการแคลเซียมมากกว่าวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยเด็กอายุ 1-10 ปี ควรได้รับแคลเซียมราว 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อนำมาเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กระดูกและฟัน ขณะที่ส่วนอื่นๆ จะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นโครงสร้างของร่างกาย โดยการสะสมแคลเซียมในเด็กที่หัดพูดจะค่อนข้างช้าแต่ก็สามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งการศึกษาพบว่า ถ้าปริมาณแคลเซียมในร่างกายเด็กมีต่ำจะทำให้ขบวนการสะสมเกลือแร่ในกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกต่ำ เป็นผลให้เกิดโรคกระดูกอ่อนหรือโรคกระดูกค่อมงอได้
สำหรับสิ่งที่สำคัญของช่วงอายุนี้คือ การพัฒนารูปแบบการบริโภคให้สอดคล้องกับระดับแคลเซียมที่ร่างกายต้องการให้เพียงพอ เพื่อพัฒนาความหนาแน่นของกระดูกให้การเติบโตของเด็กเป็นปกติ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกในช่วงต่อไปของชีวิตได้
วัยหนุ่มสาว
จากการศึกษาวิจัยแสดงว่า ช่วยอายุ 11-24 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายดำเนินขบวนการก่อรูปกระดูก โดยถ้าร่างกายได้รับแคลเซียม ในปริมาณที่ต่ำกว่าความต้องการของร่างกายอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ซึ่งถ้าขาดอย่างร้ายแรงจะก่อให้เกิดโรคกระดูกอ่อน มีอาการเจ็บกระดูก เจ็บกล้ามเนื้อ และเมื่อประสบกับการกระดูกหัก กระดูกจะสมานให้เหมือนเดิมได้ช้า จึงควรได้รับ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน สิ่งสำคัญคือ การรักษาระดับการบริโภคอาหารให้สอดคล้องกับระดับแคลเซียมที่ต้องการ เพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับกระดูก ถ้าจะต้องมีการสูญเสียไปในภายหลังของช่วงชีวิต โดยถ้าเราได้รับแคลเซียมตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือกลางคนอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง อายุการสึกหรือผุกร่อนตามธรรมชาติก็จะยืดออกไปได้อีกนานกว่าคนที่รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
หญิงตั้งครรภ์
สำหรับหญิงมีครรภ์แล้ว แคลเซียม นับได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อสภาวะการตั้งครรภ์อย่างมาก ควรได้รับ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน จำเป็นต้องได้รับมากกว่าคนธรรมดาเป็นพิเศษ เนื่องจากจะต้องถ่ายทอดแร่ธาตุดังกล่าวสู่ลูกเพื่อการพัฒนาโครงสร้างร่างกายของทารกในครรภ์ ดังนั้นหญิงมีครรภ์จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะขาดแคลน แคลเซียม นอกจากจะช่วยให้พัฒนาการเติบโตของทารกในครรภ์เป็นปกติแล้ว ยังมีส่วนช่วยรักษาเสถียรสภาพความหนาแน่นกระดูกในแม่ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกระดูกหรือโรค กระดูกพรุน ในภายหลังได้
วัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ
คนเราปกติจะมีโอกาสสูญเสีย แคลเซียม จากกระดูกเมื่อเรามีอายุมากขึ้น เพราะว่าเมื่ออายุเกินกว่า 30 ปีแล้ว ร่างกายจะไม่สะสม แคลเซียม อีกต่อไป โอกาสเผชิญกับโรคเกี่ยวกับกระดูกจะสูงถ้าร่างกายไม่ได้รับ แคลเซียมอย่างเพียงพอ ซึ่งควรได้รับ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงวัยหมดประจำเดือนซึ่งการศึกษาพบว่าร่างกายจะสูญเสียกระดูกในช่วงประมาณ 5-6 ปีแรกหลังจากหมดประจำเดือน เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมน oestrogens และประสิทธิภาพในการสร้าง Vitamin D ก็ลดลงตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มจะเป็นโรค กระดูกพรุนสูง ดังนั้นคนในวัยสูงอายุที่มีการเสริม แคลเซียม ให้กับกระดูกอย่างเพียงพอ จะช่วยยับยั้งการสูญเสียกระดูกในช่วงนี้ได้ การเผชิญกับการผุกร่อนของกระดูกจะน้อยลง ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับโรคที่เกี่ยวกับกระดูกเมื่อย่างเข้าสู่วัยทองก็น้อยลงหรืออาจไม่เกิดขึ้น
ที่มา ...www.e-magazine.info