การทำบุญ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน
วิธีนับวันตายเพื่อทำบุญครบ ๗ วัน ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วันนั้น ให้นับวันตายเป็นวันที่ ๑ เช่น ถ้าตายวันจันทร์ ก็นับวันจันทร์เป็นวันที่ ๑ วันอังคารเป็นวันที่ ๒ วันพุธเป็นวันที่ ๓ วันพฤหัสบดีเป็นวันที่ ๔ วันศุกร์เป็นวันที่ ๕ วันเสาร์เป็นวันที่ ๖ และวันอาทิตย์เป็นวันที่ ๗ การทำบุญครบ ๗ วัน จึงกำหนดทำในวันอาทิตย์ที่ ๗ (แต่ก็มีผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่าการทำบุญครบ ๗ วันนิยมให้ล่วงไปแล้ว ๗ วันก่อน ฉะนั้น จึงถือเอาวันที่ ๘ (วันจันทร์) เป็นวันทำบุญครบ ๗ วัน อย่างนี้ก็มี) อย่างไรก็ตาม พิธีทำบุญครบ ๗ วัน ๕๐ หรือ ๑๐๐ วันนี้ ในทางปฏิบัติก็นิยมทำกันอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ทำวันเดียว กับทำสองวัน
กรณีทำวันเดียว เจ้าภาพก็นิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป หรือ ๗ รูป หรือ ๙ รูป (ส่วนใหญ่นิยม ๗ รูป) มาสวดพระพุทธมนต์ และเลี้ยงพระให้เสร็จสิ้นในวันเดียวคือวันที่ ๗ (หรือจะทำในวันที่ ๘ ตามความเห็นของผู้รู้บางท่านก็ได้) โดยมีทั้งการสวดพระพุทธมนต์ และเลี้ยงพระในวันเดียวกัน อาจจะทำตอนเช้าหรือตอนเพลก็ได้
กรณีทำสองวัน เจ้าภาพก็นิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป หรือ ๗ รูป หรือ ๙ รูป (ส่วนใหญ่นิยม ๗ รูป) มาสวดพระพุทธมนต์เย็นในวันที่ ๗ ส่วนวันที่ ๘ ก็เลี้ยงพระเช้า หรือเพล โดยจะจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาด้วยก็ได้
วิธีนับวันตายเพื่อทำบุญครบ ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน ก็ใช้วิธีนับแบบเดียวกับทำบุญครบ ๗ วัน และมีรูปแบบการทำบุญเหมือนกัน คือ จะทำ ๑ วัน หรือ ๒ วันก็ได้
สำหรับการเลื่อนวันทำบุญนั้น ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถเลื่อนได้ โดยทั่วไปก็นิยมเลื่อนเข้ามามากกว่าจะเลื่อนออกไป เช่นในกรณีที่ตายวันจันทร์ที่ ๑ ถ้าไม่สะดวกที่จะทำบุญครบ ๗ วันในวันอาทิตย์ที่ ๗ ก็เลื่อนเข้ามาทำบุญในวันเสาร์ที่ ๖ แทน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เจ้าภาพไม่ควรกังวลใจจนเกินไป เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวันเท่าใดนัก จะเลื่อนเข้าหรือเลื่อนออกอย่างไร ก็ขอให้ยึดถือความพร้อมของเจ้าภาพและพระสงฆ์เป็นเกณฑ์ไว้ การประกอบพิธีจึงจะเป็นไปด้วยความราบรื่น
ที่มา : navy