ผลสำรวจประชากรใน กทม.อายุ 18 ปีขึ้นไป พบคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจอาหารออร์แกนิคมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่ามีคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะอาหารออร์แกนิกประเภทผักและผลไม้ ด้านผู้วิจัยแนะรัฐควบคุมราคาให้เหมาะสม ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยเป็นช่องทางเพิ่มรายได้แข่งขันกับผู้ค้ารายใหญ่
น.ส.ปภาดา ชินวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (SIMBA)มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “ออร์แกนิคไลฟ์ในสไตล์ของคนกรุง” กรณีศึกษาตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 650 ตัวอย่าง พบว่าถึงร้อยละ 86.9 รับประทานอาหารออร์แกนิค โดยร้อยละ 42.8 ระบุทานเป็นบางครั้ง ร้อยละ 21.7 ระบุทุกวันหรือเป็นประจำ และร้อยละ 35.5 ระบุนานๆ ครั้ง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.3 ระบุมีความเข้าใจว่าอาหารออร์แกนิคเป็นอาหารที่ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนเจือปนและปลอดภัยกับร่างกาย
สำหรับสาเหตุที่ทำให้หันมารับประทานอาหารชนิดนี้ 3 อันดับแรก พบว่าร้อยละ 69.8 ระบุคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ร้อยละ 55.2 เพื่อสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว และร้อยละ 28.3 มีรสชาติอาหารที่อร่อย ซึ่งอาหารที่ซื้อบ่อยคือผัก ผลไม้ ร้อยละ 87.5 รองลงมา ไข่หรือเนื้อสัตว์ ร้อยละ 32.5 และนมหรือเครื่องดื่มร้อยละ 21.8 ส่วนการรับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารออร์แกนิค ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.6 จากสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 46.5 จากนิตยสาร และร้อยละ 34.5 ระบุหนังสือพิมพ์
น.ส.ปภาดา กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าอาหารออร์แกนิคกำลังเป็นที่นิยมและเป็นตัวเลือกหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพ ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้กับประชาชนให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ควรควบคุมราคาให้มีความเหมาะสม นอกจากนี้ ควรสนับสนุนเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบออร์แกนิค (เกษตรอินทรีย์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย ในด้านเงินทุนและช่องทางจำหน่ายผลิตผล เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ.