ฟาร์มแมงมุมทารันทูลา อยู่ที่เมืองบาตูโค ห่างจากกรุงซานติอาโก ไปทางเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร
เจ้าของเป็นนักปฐพีวิทยาชื่อ ฆวน ปาโบล โอเรญานา ที่ชอบออกไปหาแมงมุมยักษ์ขนยาวตามเนินเขานอกกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี หลังจากเลี้ยงแมงมุมจนเต็มบ้านแล้ว จึงได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทชื่อ อันเดสไปเดอร์ส ทำโรงเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก เพราะโอเรญานาเชื่อว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเลี้ยงสุนัขหรือแมวสักตัวได้ ทารันทูลาราคาถูกกว่า ไม่ต้องเอาใจใส่มาก เดี่ยวนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว คนรู้จักสิ่งแปลกๆ มากขึ้นจากการชมโทรทัศน์ และอยากได้สักตัวมาไว้ที่บ้าน
ฟาร์มของโอเรญานาส่งออกแมงมุมยักษ์ปีละประมาณ 3 หมื่นตัว โดยบรรจุลงกล่องเจาะรู พร้อมแปะใบรับรองสายพันธุ์
ในชิลี มีแมงมุมทารันทูลาเพียง 11 ชนิดที่ได้รับการจัดวงศ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ แต่ส่วนตัวของเจ้าของฟาร์มเชื่อว่า มีทารันทูลาราว 20 ชนิด โดยดาวเด่นของฟาร์มคือ ทารันทูลาสายรุ้ง บางตัวมีท้องสีแดง บางตัวมีผิวหนังสีออกทองแดง และมีขนปุยแตกต่างกัน
ที่โรงเพาะเลี้ยง คนงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และอยู่ในวัยผู้ใหญ่ เพราะแมงมุมเป็นสัตว์เปราะบาง
หากมือหนักอาจทำมันขาหักหรือหลุดมือ และตายได้ กระบวนการเพาะเลี้ยงต้องอาศัยการดูแลใกล้ชิดและการสัมผัสแตะต้องอย่างอ่อนโยน กว่าจะเลี้ยงโตขนาดส่งออกขายได้ ใช้เวลานานสองปีครึ่งถึงสามปีเลยทีเดียว
สำหรับลูกค้ารายใหญ่ของฟาร์มแห่งนี้ก็คือสหรัฐอเมริกาในแง่ของปริมาณ แต่ผู้ซื้อยุโรป ปริมาณจะน้อยกว่าแต่หลากหลายสายพันธุ์มากกว่า
หลายเดือนมานี้ ฟาร์มยังส่งทารันทูลา ให้แก่มหาวิทยาลัยอันโตฟากัสตา ทางเหนือของชิลี ที่กำลังทำวิจัยการใช้พิษแมงป่องและแมงมุมชิลีสู้โรคมะเร็งด้วย แต่มีอยู่ตัวหนึ่งขอเก็บไว้ไม่ขาย คือ เจ้า "รูฟีนา" ทารันทูลาสีกาแฟ ที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพราะยังพิเศษตรงที่เป็นของขวัญที่เจ้าของฟาร์มมอบให้แก่ภรรยาสมัยจีบกันใหม่ๆ