ปรับสูตรค่านั่ง รถไฟความเร็วสูง เฉลี่ยชั้นธรรมดา 2 บาท/กม.


หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงเรื่องค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง 4 สายทางเมกะโปรเจ็กต์ ไฮไลต์ของ "รัฐบาลเพื่อไทย" ที่บรรจุใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าเป็นราคาที่แพงเว่อร์ จนอาจจะทำให้คนต่างจังหวัดหมดสิทธิ์ที่จะได้นั่ง เพราะแง้มดูราคาเบื้องต้นก็แพงได้ใจใกล้เคียงกับเครื่องบินแล้ว



แม้ว่า "สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" สังกัดกระทรวงคมนาคมและเจ้าภาพโครงการศึกษารถไฟความเร็วสูง จะพยายามอธิบายว่า ราคาที่กำหนดไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.50 บาท/กิโลเมตรนี้ เป็นค่าเฉลี่ยที่คำนวณต้นทุนจากที่เคยศึกษาไว้ในแผนแม่บทเมื่อปี 2553 แต่ก็ถือว่ายังถูกกว่าของประเทศญี่ปุ่นที่ศึกษาให้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.70 บาท/กิโลเมตร

หากคิดตามราคาเบื้องต้นที่ 2.50 บาท/กิโลเมตร เมื่อถอดเป็นค่าโดยสารในราคาปกติของแต่ละสายในเฟสแรก
จะได้ดังนี้ สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 382 กิโลเมตร อยู่ที่ 955 บาท/เที่ยว สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร อยู่ที่ 625 บาท/เที่ยว สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตร อยู่ที่ 562.50 บาท/เที่ยว และสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร อยู่ที่ 552.50 บาท/เที่ยว

ล่าสุดเพื่อให้ตอบโจทย์และดึงคนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก "สนข." ได้ลองจำลองสูตรราคาโดยเฉลี่ยทั้ง 4 สายใหม่ ปรับลงเหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาท/กิโลเมตร จะทำให้ราคาทุกสายถูกลงอีก

โดยเบื้องต้นสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก อยู่ที่ 764 บาท/เที่ยว สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ที่ 500 บาท/เที่ยว สายกรุงเทพฯ-หัวหิน อยู่ที่ 450 บาท/เที่ยว และสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง อยู่ที่ 442 บาท/เที่ยว

ขณะเดียวกัน "สนข." ยังเพิ่มออปชั่น จัดที่นั่งแบ่งเป็น 3 เกรด คือ ชั้น วี.ไอ.พี. แบบ 3 ที่นั่ง/แถว ชั้น 1 แบบ 4 ที่นั่ง/แถว และชั้น 2 แบบ 5 ที่นั่ง/แถว พร้อมราคาโปรโมชั่นพิเศษ ทำให้ราคาถูกลง เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่มมากขึ้น

ส่วนจะเร้าใจจนใคร ๆ กดไลก์ให้ผ่านฉลุยหรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน !


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ปรับสูตรค่านั่ง รถไฟความเร็วสูง เฉลี่ยชั้นธรรมดา 2 บาท/กม.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์