สัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่หน้าตาน่าเกลียดที่สุดในโลก ทั่วตัวเตียนโล่งเกือบไม่มีขนที่เรียกว่า "ตุ่นหนูไร้ขน" (Naked Mole Rat หรือ Sand Puppy) มีถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติในแถบแอฟริกาตะวันออก ใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินชั่วนาตาปี โดยการขุดอุโมงค์เป็นเครือข่ายอยู่ใต้ดิน บางครั้งเป็นอาณาจักรใหญ่กว่าสนามฟุตบอลรวมกัน 4-5 สนามด้วยซ้ำ เนื้อตัวออกสีชมพูอมเหลือง มีคุณสมบัติแปลกๆ อยู่หลายอย่างที่ช่วยให้มันใช้ชีวิตอยู่ในโพรงใต้ดินได้ อย่างเช่น ปอดมีขนาดเล็กเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะออกซิเจนใต้ดินต่ำ ระบบการย่อยอาหารต่ำ อัตราหายใจต่ำ และบริเวณผิวหนังซึ่งเสียดสีอยู่กับโพรงตลอดเวลา ไม่มีประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดอยู่เลย ใช้เพียงขนซึ่งมีทั่วตัวที่มีอยู่ไม่เกิน 100 เส้นเป็นเหมือนประสาทสัมผัสภายนอก เป็นต้น
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่นำทีมโดย ศาสตราจารย์ วีรา กอร์บูโนวา พบว่า ตัวตุ่นหนูไร้ขนมีอายุยืนกว่าสัตว์จำพวกฟันแทะ (โรเดนท์) ทั่วไป คือมีอายุถึง 30 ปี (ในสวนสัตว์หรือที่เพาะเลี้ยง) นอกจากนั้น ที่น่าสังเกตก็คือดูเหมือนมันไม่เคยเป็นมะเร็งเลย
ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ กอร์บูโนวา ศึกษาจนพบว่า ตุ่นหนูไร้ขนมีเนื้อเยื่อพิเศษที่ทำให้มันพัฒนาคุณลักษณะต่อต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี และเชื่อด้วยว่า หากค้นคว้าวิจัยให้ลึกซึ้งมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเนื้อเยื่อดังกล่าวนี้ได้ก็อาจพัฒนาแนวทางที่เป็นนวัตกรรมเพื่อการป้องกันมะเร็งในคนเราได้เช่นเดียวกัน
ในชั้นระหว่างเนื้อเยื่อของตัวตุ่นหนูไร้ขนมีสารพิเศษชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ไฮยาลูโรนัน" ทำหน้าที่เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้มะเร็งพัฒนาขึ้นในร่างกายของมันได้ ไฮยาลูโรนัน เป็นองค์ประกอบหนึ่งของเนื้่อเยื่อในส่วนที่ไม่ได้เป็นเซลล์ (เอ็กซ์ตราเซลลูลาร์ แมทริกซ์) และเป็นที่รู้กันก่อนหน้านี้ว่า มันทำหน้าที่ยึดเซลล์และเนื้อเยื่อเข้าไว้ด้วยกัน แอนเดร เซลูอานอฟ หนึ่งในทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ระบุว่า ไฮยาลูโรนันนี่เองที่ทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญานเพื่อควบคุมการเติบโตขยายตัวของเซลล์บางชนิดได้ สารพิเศษดังกล่าวนี้พบในคนเราเช่นเดียวกัน แต่ที่พิเศษในกรณีของตัวตุ่นไร้ขนก็คือ มันสามารถผลิตสาร
ไฮยาลูโรนันในระดับโมเลกุลขึ้นมาได้เป็นจำนวนมากมายนั่นเอง ไฮยาลูโรนันในตัวตุ่นหนูไร้ขนจึงถูกเรียกต่างหากออกไปว่า "เอชเอ็มดับเบิลยู-เอชเอ" ที่เชื่อว่าช่วยให้ตัวตุ่นหนูไร้ขนนี้ปลอดจากโรคมะเร็งชั่วอายุขัย
ในการทดลองเบื้องต้นเพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าวนี้ทีมวิจัยทดลองด้วยการนำเอาสารชนิดนี้ออกมาจากเซลล์ของตัวตุ่นหนูไร้ขน ศาสตราจารย์กอร์บูโนวา พบในอีกไม่นานต่อมาว่า เซลล์ดังกล่าวเริ่มขยายตัวเป็นเนื้อร้ายขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เอชเอ็มดับเบิลยู-เอชเอ มีบทบาทในการป้องกันมะเร็งจริงๆ นอกเหนือจากการที่มันช่วยให้ผิวหนังของตุ่นหนูไร้ขนมีความหยุ่นแต่เหนียวเป็นพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ในโพรง สามารถรีดตัวให้พ้นช่องแคบๆ ในโพรงของมันนั่นเอง
มนุษย์เราก็ผลิตไฮยาลูโรนันขึ้นมาโดยธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่ในปริมาณที่น้อยกว่าตัวตุ่นหนูไร้ขนมาก นอกจากนั้นคุณสมบัติในเชิงฟิสิกส์ก็แตกต่างกัน การศึกษาวิจัยเพื่อหากลไกต่อต้านมะเร็งของ ไฮยาลูโรนันในตัวตุ่นหนูไร้ขนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งจึงน่าจะมีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้กับคนในอนาคตอย่างใหญ่หลวง
สำหรับไฮยาลูโรนันในคนนั้นมีการใช้กันเพื่อรักษาอาการโรคผิวหนังและลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยโรคปวดข้อเข่าด้วยการฉีด และยังไม่ปรากฏมีผลข้างเคียงแต่อย่างใด
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์