“อาการไข้ในช่วงอากาศเปลี่ยนแบบนี้ คนรุ่นแม่เขาเรียกว่าไข้หัวลม ตามหลักการแพทย์แผนไทยก็คือเกิดจากการที่ธาตุทั้งสี่ในร่างกายไม่สมดุล ดังนั้น การกินอาหารซึ่งเป็นผลิตผลทางธรรมชาติของธาตุไฟ ลม น้ำ และดินก็จะช่วยปรับธาตุ ทำให้อาหารกลายเป็นยา”
โดยอาหารต้านไข้หัวลมตำรับไทยที่มักถูกยกขึ้นมากล่าวถึงบ่อยๆ มีอยู่สองอย่างก็คือ แกงส้มดอกแค และเมี่ยงคำ เพราะเป็นเมนูที่ครบถ้วนที่สุดในการบำรุงธาตุในช่วงอากาศเปลี่ยน
แกงส้มดอกแค
นอกจากเครื่องแกงที่มีส่วน-ประกอบของสมุนไพรต้านหวัดหลายชนิดแล้ว ด้วยรสชาติที่เผ็ดนำ เปรี้ยวตาม จึงบำรุงธาตุลมและธาตุน้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนดอกแคก็คืออาหารบำรุงธาตุไฟนั่นเอง สามธาตุนี้เป็นธาตุเริ่มต้นของการเจ็บป่วย ถ้าป้องกันไว้ได้โอกาสที่ธาตุดินจะถูกกระทบก็มีน้อยมาก
เมี่ยงคำ
อาหารชนิดนี้มีคุณสมบัติ ในการบำรุงรักษาธาตุทั้ง 4 เพื่อให้สมดุลกัน หัวหอม ขิง และพริกจะช่วยบำรุงธาตุลม มะนาวและใบชะพลูบำรุงรักษาธาตุน้ำ เปลือกของมะนาวบำรุงรักษาธาตุไฟ ส่วนธาตุดินก็ได้จากน้ำอ้อย มะพร้าว ถั่วลิสง และกุ้งแห้ง
จานเด็ดต้องเผ็ดร้อน
ช่วงฤดูฝนต่อฤดูร้อนแบบนี้ต้องกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต และทำให้ร่างกายอบอุ่นด้วยรสชาติเผ็ดๆ ของอาหารบำรุงธาตุลม และแม้เราจะเป็นหวัดไปแล้ว อาหารรสชาติเผ็ดร้อนก็จะช่วยให้เราหายใจได้โล่งขึ้นซึ่งความเผ็ดร้อนนั้นนอกจากได้จากพริกแล้ว ยังมีพริกไทย กระเทียมหัวหอม ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ กระชาย ใบกะเพรา และอีกมากมาย
Note! ในทางวิทยาศาสตร์ก็มีการวิจัยรับรองว่า “แคปไซซิน” ซึ่งเป็นตัวการของรสชาติเผ็ดร้อนในพริกและพริกไทย มีคุณสมบัติช่วยลดน้ำมูกหรือลดปริมาณสารที่ขัดขวางระบบการหายใจ ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการไอ ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของตัวยาหลายๆ ชนิดเลยทีเดียว
เสริมทัพต้านหวัดด้วยของเปรี้ยวๆ
ขณะบำรุงธาตุลมให้แข็งแรง ธาตุต่อมาที่ต้องใส่ใจก็คือธาตุน้ำ ซึ่งก็คืออาหารรสเปรี้ยว เพื่อให้ธาตุน้ำในร่างกายสมดุลกับธาตุน้ำภายนอกที่มีมากขึ้น ผักและ ผลไม้รสเปรี้ยวที่คุณสามารถหาได้ทั่วไปก็คือ มะนาว มะกอก มะม่วง มะขาม มะเขือเทศ ส้ม สับปะรด เป็นต้น
Note! ผักและผลไม้รสเปรี้ยวๆ จะอุดมไปด้วยสารสำคัญอย่าง “วิตามินซี”ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล แม้จะไม่ใช่ช่วงที่เราป่วยหรือเปลี่ยนฤดูกาลก็ควรกินให้เป็นปกตินิสัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรงอยู่เสมอ