ทำอย่างไรเมื่อ ‘วัยรุ่น วุ่นเครียด’
ใช่ว่าจะมีแต่ผู้ใหญ่ที่มีความเครียด เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ก็มีความเครียดไม่น้อยเหมือนกันแม้จะมีหน้าที่เพียงศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น แต่ด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หากเด็กๆ ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสม ก็ย่อมมีผลเสียตามมา
ปัจจุบันพบว่า มีข่าวเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นแก้ปัญหาความเครียดของตนเองด้วยวิธีผิดๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์มากมาย เช่น ทะเลาะทำร้ายร่างกายเพื่อน บางคนระบายความเครียดด้วยการหันไปสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เสพสารเสพติด หรือหากไม่สามารถแก้ปัญหาความเครียดของตนเองได้ ก็ลงท้ายด้วยการทำร้ายตนเอง และฆ่าตัวตาย นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวของตนเป็นแน่
วันนี้เราจึงขอนำความรู้ดีๆและคำแนะนำในการแก้ไขปัญหา ความเครียดของเด็กวัยรุ่น โดย นพ. วิฑูรย์ เหลืองดิลก แพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง มาฝากกัน
นพ. วิฑูรย์ บอกว่า “ความเครียด” เป็นภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดจากบุคคลประเมินความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและสภาพแวดล้อมว่า อาจจะมีผลกระทบทางลบต่อสุขภาวะของตนเอง หรือความขัดแย้งภายในจิตใจที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของจิตใจ และมีการแสดงออกทั้งด้านความคิด ความรู้สึกฯลฯ
โดยปัญหาที่เป็นสาเหตุทำให้วัยรุ่นเกิดความเครียด ได้แก่
1. ปัญหาความสัมพันธ์และความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนต่างเพศ ครูอาจารย์ เป็นต้น
2. ปัญหาการเรียนและปัญหาอื่นในโรงเรียน พ่อแม่ในปัจจุบันมักคาดหวังกับลูกวัยรุ่นสูง ในเรื่องการเรียน วัยรุ่นที่เรียนไม่เก่ง หรือเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงมักขาดกำลังใจ
3. ปัญหาที่เกิดจากตัววัยรุ่นเอง เช่น รูปร่าง หน้าตา ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงวัยรุ่น ความคิดความรู้สึกต่อตนเองในทางลบ รับผิดชอบกิจกรรมหลายอย่าง การสร้างความคาดหวังจนกลายเป็นความกดดัน และทำให้เกิดความเครียดในที่สุด
4. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ฐานะทางการเงิน ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เป็นตัวการทำให้เด็กเกิดความต้องการสูง และใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด วัยรุ่นบางส่วนมองเทคโนโลยีเป็นเหมือนเพื่อนที่ปรึกษา ทำให้ห่างไกลจากการพูดคุยปรึกษาคนในครอบครัว
พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะสามารถดูแลบุตรหลานให้ห่างไกลจากความเครียดได้อย่างไร ?
นพ.วิฑูรย์ ให้คำตอบว่า ผู้ปกครองควรติดตามและเฝ้าดูพฤติกรรมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด อารมณ์อย่างใกล้ชิด รับฟังวัยรุ่นด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ไม่สร้างความกดดันหรือความคาดหวังมากเกินไป ฝึกที่จะจัดการกับความเครียดและให้คำแนะนำในการจัดการกับความเครียดได้ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมด้านสังคม เช่นการช่วยเหลือสังคม หรือการเล่นกีฬาแทนที่จะให้เรียนเพียงอย่างเดียว
“ปัญหาความเครียดควรแก้ไขต้องเริ่มต้นจากครอบครัว โดยที่แก้ไขด้วยการสร้างความสุข ความอบอุ่น สร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยทำให้พวกเขาผ่านพ้นปัญหาต่างๆ รวมทั้งความเครียดที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นในยุคนี้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” แพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าว
นอกจากนี้ ทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข ยังได้จัดทำแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น เพื่อเป็นอีกช่องทางแก่สถานศึกษา และครอบครัวสามารถนำไปใช้ประเมินพฤติกรรมของวัยรุ่นว่ามีความเครียดมากน้อยเพียงใด เพื่อได้ทราบถึงปัญหาและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที โดยสามารถเข้าไปประเมินพร้อมดูผลสรุปการประเมินได้ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต http://www.dmh.go.th
ด้วยเหตุนี้ การสร้างพื้นฐานของครอบครัวด้วยความรักความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ เด็ก ๆ วัยรุ่นมีสุขภาพจิตที่ดี และมีภูมิคุ้มกันจากความเครียด พร้อมทั้งเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติที่ดีได้ต่อไป
ขอบคุณ : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!