"ที่ผ่านมานั้นนอกจากการช่วยกันดูแลป่าแล้ว ชาวบ้านยังเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้ สร้างรายได้จากการเก็บของในป่าชุมชน คือ ไข่มดแดง เห็ดโคน เห็ดเผาะ ตัวแม่เป้ง หรือแม่มดแดง มาส่งให้กับสหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด เพื่อนำไปถนอมอาหาร ทำเป็นไข่มดแดง แม่เป้ง เห็ดโคน และเห็ดเผาะ บรรจุกระป๋อง เวลานี้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก บางช่วงเวลาถึงขั้นขาดตลาด" นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวว่าในแต่ละช่วงเวลาตลอดทั้งปี ชาวบ้านจะเข้าไปเก็บของป่าตามฤดูกาล
เช่น เดือนมีนาคม-กรกฎาคม จะมีไข่มดแดง ซึ่งในแต่ละปีจะเก็บรวมกันได้ประมาณ 1 ตัน สหกรณ์ฯจะรับซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 250-260 บาท เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะเก็บตัวแม่เป้งหรือแม่มดแดง ซึ่งจะได้ราว 200-300 กิโลกรัม ส่วนเดือนพฤษภาคม-กันยายน ก็จะเก็บเห็ดชนิดต่างๆ เช่น เห็ดโคน เห็ดเผาะ เป็นต้น ในแต่ละปีนั้นชาวบ้านจะมีรายได้จากการเก็บของในป่าชุมชนแห่งนี้ประมาณ 3 ล้านบาท
"ก่อนหน้านี้เคยมีหลายคนเป็นห่วงว่า การนำของพวกนี้ออกมาจากป่าเยอะๆ ในอนาคตจะทำให้ไข่มดแดงลดน้อยลงหรือไม่ ความจริงที่เป็นข้อปฏิบัติคือ พื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปหาไข่มดแดงรวมไปถึงเห็ดชนิดต่างๆ นั้น เป็นพื้นที่กว้างมากถึง 3,006 ไร่ บรรดามดแดงและเห็ดก็จะอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่ได้เก็บเฉพาะในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ในระยะเวลา 1 ปี จะมีช่วงเวลาหนึ่ง ราว 5 เดือน สำหรับเก็บไข่มดแดงเท่านั้น ช่วงเวลาที่เหลือจะเป็นการเจริญเติบโตในวงเวียนชีวิตใหม่ของมดแดงรุ่นต่อไป ซึ่งการเก็บไข่มดแดงในลักษณะเช่นนี้จะไม่ทำให้ไข่มดแดงหมดจากป่าแน่นอน" นายสมศักดิ์กล่าว