ดร.ไซมอน โอลิเวอร์ ผู้ก่อตั้งโครงการวิจัยและอนุรักษ์ฉลามหางยาว และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ได้เป็นผู้บันทึกภาพวิดีโอดังกล่าวมากกว่า 60 ครั้ง ขณะที่ฉลามหางยาวกำลังล่าเหยื่อโดยใช้หางฟาดเหยื่อจนสลบ นอกชายฝั่งเกาะเปสคาดอร์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งพบว่ามีฝูงปลาซาร์ดีนจำนวนมากที่เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของฉลามหางยาว
ดร.โอลิเวอร์กล่าวว่า การใช้หางฟาดเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วมาก และหลายครั้งไม่สามารถจับภาพได้ทัน เนื่องจากมีความเร็วและรุนแรงมาก นักวิทยาศาสตร์จังใช้วิธีวิเคราะห์ภาพฟุตเทจ โดยการแบ่งซีนออกเป็นหลายส่วน เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน นักวิจัยระบุว่า ฉลามหางยาวได้เร่งความเร็วผ่านน้ำ ก่อนที่จะหยุดนิ่งโดยการงอส่วนครีบอกเข้าหากัน และกดส่วนปลายหัวลงก่อนที่จะใช้ส่วนปลายหางยาวฟาดเข้าที่เหยื่อ
ดร.โอลิเวอร์กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือการใช้วิธีนี้มีโอกาสที่ประสบความสำเร็จเพียง 60% เท่านั้น แต่ถึงกระนั้น การฟาดแต่ละครั้งพวกมันก็จะได้เหยื่อจำนวนมากอยู่ดี ซึ่งเท่ากับเป็นการชดเชยโอกาสการไม่ประสบความสำเร็จในอีก 40% ที่เหลือ
นอกจากนั้นเขายังคาดการณ์ว่า ความเร็วและการเคลื่อนไหวส่วนปลายหางในแต่ละครั้ง อาจช่วยก่อให้เกิดช็อคเวฟหรือคลื่นกระแทกในทะเลได้ ดังจะสังเกตเห็นฟองอากาศจากน้ำในบริเวณส่วนปลายสุดของหาง ที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันทางอนุพันธ์ ที่สร้างการระเบิดขึ้นในน้ำและทำลายโมเลกุลน้ำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย