การไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวด้วยอาการเจ็บนิดป่วยหน่อย อย่างปวดหัว ตัวร้อน นั้น ร่างกายคนเราสามารถเยียวยารักษาตนเองได้ ซึ่งถ้าเราร่วมมือกับร่างกายด้วยการดูแลจัดการอาการเบื้องต้นเหล่านั้นด้วยวิถีธรรมชาติ เช่น การเลือกกินอาหาร พักผ่อน การปฏิบัติตัว อาการเหล่านั้นก็สามารถบรรเทาเบาบางได้เร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งยา และนี่คือ 6 อาการพื้น ๆ ที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ พร้อมวิธีรับมือ
หวัด
อาการที่เป็นกันได้ตลอดปี โดยเฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยน ช่วงหน้าฝนแบบนี้อย่าเผลอดีใจว่าทำให้อากาศเย็นขึ้น เพราะโอกาสที่หวัดจะมาเยือนก็มีได้ วิธีป้องกันและบรรเทาต้องอาศัย 2 สมุนไพรคู่ครัวอย่าง "ขิง และตะไคร้" มาชงดื่มก็น่าจะเอาอยู่
ขิง หั่นเป็นแว่น เติมน้ำร้อน ปิดฝาตั้งทิ้งไว้รอให้อุ่น แล้วตักขิงออก แต่งรสให้ชวนกินด้วยน้ำผึ้ งหรือน้ำตาลเล็กน้อย หรือถ้าชอบแบบเผ็ดร้อนก็ใช้ขิงแก่ทุบต้มกับน้ำ เคี่ยวต่อให้รสขิงออกเข้มข้นหน่อย แต่งรสหวานสักนิด จิบดื่มได้ตลอดวัน
ถ้าวันไหนเปียกฝนกลับบ้านมา รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ก็ใช้ตะไคร้ 1 ต้นหั่นแว่น กับขิงหั่นแว่นต้มกับน้ำ 3-5 แก้วจนเดือด ใส่ในกระติกเก็บความร้อนแบ่งดื่ม 3 เวลาหลังอาหาร หรือถ้ามีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูกร่วมด้วย ก็ใช้สูตรคุณแม่ ตะไคร้ทุบ หอมแดงบุบกับใบมะขามต้มน้ำอาบ ไอระเหยของสมุนไพรทั้ง 3 ที่มากับไอร้อนจะช่วยให้หายใจโล่ง อาการหวัดฟื้นตัวขึ้นค่ะ
ไอ เจ็บคอ
เป็นกลไกกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง สาเหตุของการไอมีได้มากมาย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเป็นไข้หวัด และมักจะหายได้เอง แต่ก็มีวิธีช่วยบรรเทาได้
ดื่มน้ำและเครื่องดื่มอุ่นบ่อย ๆ มาก ๆ เพื่อช่วยให้ลำคอชุ่มชื่น และลดอาการคัดจมูก หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง ของทอด อาหารมัน ๆ และอาหารเย็น ๆ และสารระคายเคือง เช่น บุหรี่ ฝุ่นควัน เป็นต้น พักผ่อนอย่างเต็มที่
สูตรแก้ไอประจำบ้านที่แสนง่ายคือ ผสมน้ำมะนาวสดกับน้ำต้มสุกและน้ำผึ้งอัตราส่วนเท่ากัน ยาแก้ไอสูตรนี้จะกินให้ได้ผลต้องจิบทีละน้อย ให้น้ำมะนาวเคลือบอยู่บริเวณคอ ช่วยลดอาการอักเสบที่คอ ลดเสมหะที่คิดคอด้วย แต่ถ้าจิบไปแล้วรู้สึกแสบคอต้องเติมน้ำเจือจางฤทธิ์มะนาวลงหน่อยค่ะ
แผลในปาก
ถึงจะไม่ใช่อาการร้ายแรงอะไร เป็นแล้วมักจะหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่เมื่อเป็นแล้วก็ทรมานไม่ใช่เล่น โดยเฉพาะเวลาที่กินอาหารและแปรงฟัน แต่ก็มีวิธีช่วยบรรเทาก็ช่วยลดเวลาทรมานนั้นให้สั้นลงได้ ด้วยการอมน้ำเกลือ วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น อาจเป็นหลังแปรงฟัน หรือก่อนนอน
ใครที่เป็นแผลในปากบ่อย ๆ อมน้ำเกลือกลั้วคอเป็นประจำช่วยได้ หรือใช้เนื้อวุ้นของว่านหางจระเข้ ปอกเปลือกทำความสะอาดทาที่แผลบ่อย ๆ ไม่ก็อมหรือเคี้ยวเนื้อวุ้นให้เนื้อวุ้นสัมผัสกับแผล ลดอาการเจ็บแผลและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น เนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ฤทธิ์สมานแผล ลดการอักเสบ แก้ปวดได้ด้วย
ท้องผูก
ข้อแนะนำสุดคลาสสิกสำหรับบรรเทาอาการท้องผูก คือ ดื่มน้ำมาก ๆ ลดหรืองดเครื่องดื่มชา กาแฟ อาหารฟาสต์ฟู้ด เพราะทำให้ท้องผูก และพยายามกินผักผลไม้สดให้มาก โดยเฉพาะมะละกอสุก และกล้วยน้ำว้า เพราะทั้งสองชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยระบายได้ดี
นอกจากนี้ขอแนะนำเครื่องดื่มหวานเย็นชื่นใจอย่าง น้ำมะขาม โดยต้มน้ำกับมะขามเปียก เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย ให้รสชาติกลมกล่อมนำมาดื่มให้ชุ่มคอและช่วยการระบาย หรือลองเมนูช่วยการะระบายและระบบย่อยอย่าง สะเดาน้ำปลาหวาน เนื้อปลาย่างหอมหวลย่อยง่าย ไม่อ้วน บวกกับฤทธิ์สะเดาที่ช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารดีขึ้น อุจจาระละเอียด ขับถ่ายออกอย่างโล่งสบาย และยังช่วยให้นอนหลับดี และใช้กินแก้ไข้ในช่วงเปลี่ยนฤดูด้วย
ท้องเสีย
ไม่ควรกินยาหยุดถ่ายอย่างยิ่งค่ะ เพราะเท่ากับเราเก็บเจ้าเชื้อโรคไว้กับตัวเอง ทางที่ดีปล่อยให้ถ่ายเพื่อระบายเชื้อโรคต้นตอของอาการจู๊ด ๆ ให้หมดไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ระวังไม่ให้ตัวเองขาดน้ำ วิธีคลาสสิกที่ทำกัน คือ ดื่มน้ำเกลือแร่ ซึ่งมีขายทั่วไป หรือจะเตรียมเองก็ได้ โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา น้ำ 1 ขวด และไม่ควรงดอาหารและเครื่องดื่ม แค่เปลี่ยนเป็นอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุป หรือดื่มชาชงแก่ ๆ ช่วย
นอกจากนี้อาจใช้สมุนไพรช่วย เช่น ฟ้าทะลายโจร ใช้ได้ทั้งแบบสดและแคปซูล ถ้าใบสดใช้ 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง แต่ถ้าเป็นแบบบรรจุแคปซูล แคปซูลละ 500 มิลลิกรัม ให้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน และเย็น และหยุดยาเมื่อหยุดถ่าย หรือใบฝรั่ง ใช้ใบล้างน้ำให้สะอาด 10-15 ใบ โขลกพอแหลก ใส่น้ำ 1 แก้วใหญ่ นำไปต้มใส่เกลือพอมีรสกร่อยพอเดือดยกลงนำมาดื่มแทนชา หรือกินกล้วยน้ำว้าดิบ ? -1 ผล
วิธีนี้ถ้าอาการดีขึ้น แต่มีอาการท้องอืด ก็ให้ดื่มน้ำขิงช่วยระบายลมในท้องค่ะ แต่ถ้ามีอาการถ่ายท้องจำนวนมากและบ่อย มีอาการไข้ ปวดท้องมากและอาเจียนร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ
ปวดหัว
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งถ้าไม่ได้ปวดจากโรคประจำตัว แต่ปวดเพราะอากาศร้อนเกินไป นอนไม่พอ เครียด หิวข้าว การกินอาหารไม่ตรงเวลา
เราลองจัดการกับอาการปวดนั้นด้วยตัวเองก่อนที่จะหันไปพึ่งยา ด้วยการปิดสวิตช์หยุดกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ก่อน เพื่อพักกายพักสายตาผ่อนคลายตัวเอง โดยหายใจเข้ายาว ๆ ลึก ๆ ผ่อนลมหายใจออกยาว ๆ ใช้มือสองข้างถูกันจนอุ่นวางส่วนอุ้งมือไว้ที่เปลือกตา ใช้ใบสะระแหน่ชงน้ำอุ่นจิบช้า ๆ หรือจะใช้วิธีการนวดกดจุดเข้าช่วย ในหนังสือบำบัดอาการปวดศีรษะและไมเกรนด้วยวิธีธรรมชาติแนะนำการนวดไว้ว่า
ให้ใช้นิ้วชี้กดไปที่ฝ่าเท้าตรงจุดระหว่างหัวแม่โป้งเท้ากับนิ้วชี้ โดยกดนวดจุดหรือกดแล้วปล่อย ทำนาน 3-5 นาทีหรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา
ใช้หวีที่เราหวีผมนี่แหละ นวดกวาดที่ฝ่าเท้าจากด้านบนลงล่าง น้ำหนักในการกดขึ้นอยู่กับความชอบและความพึงพอใจของเราค่ะ