“บุญ” ทำได้(ง่าย) เริ่มจากจิตใจ


วันหยุดติดต่อที่ยาวนานถึง 4 วัน ในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษานี้ถือเป็นเทศกาลบุญ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วประเทศต่างพร้อมใจกัน ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม ถือศีล เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งกายและใจ ตามพุทธประเพณีที่สืบทอดกันมา

หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำบุญตามหลักทางพระพุทธศาสนาสามารถกระทำได้หลายวิธี   

“การทำบุญ ทำได้ง่าย สามารถทำได้ทุกที โดยก่อนทำบุญ ก็ควรใคร่คิด ไตร่ตรอง และมีสติ” พรทิพย์ ฝนหว่านไฟ ผู้ประสานงานเครือข่ายพุทธิกา และผู้รับผิดชอบโครงการฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา พุทธศาสนิกชนที่เห็นความสำคัญของการทำบุญ โดยเริ่มจากจิตใจเป็นสำคัญ กล่าว

พรทิพย์ อธิบายต่อว่า ทางพระพุทธศาสนา มีหลักการทำบุญอยู่ 10 วิธี ซึ่งเป็นเรื่องของ ทาน ศีล ภาวนา(สมาธิ ) เป็นหัวใจสำคัญ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” ที่คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ

“บุญกิริยาวัตถุ 10” หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ ได้แก่

1. ให้ทาน หรือ ‘ทานมัย’ หมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น ผลการให้ทานดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ 

2. รักษาศีล หรือ ‘สีลมัย’  การรักษาศีล เป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ขณะเดียวกันก็เป็นการลด ละ เลิกความชั่ว  มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิให้ตกต่ำ ผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น สุขุมด้วย

3. เจริญภาวนา หรือ ‘ภาวนามัย’ เป็นการทำบุญที่มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา เป็นการเตือนสติให้เรายึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติชอบ ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ

4. การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ ‘อปจายนมัย’ หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า การประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน จะถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน

5. การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือ ‘ไวยาวัจจมัย’ เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้าง ในการทำกิจกรรมความดีต่างๆ ผลบุญในข้อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นด้วย

6. การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ‘ปัตติทานมัย’ กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ผลบุญข้อนี้ จะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้าง และปราศจากอคติต่างๆ เพราะพร้อมเปิดใจรับผู้อื่น

7. การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ‘ปัตตานุโมทนามัย’ คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น  เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น

8. การฟังธรรม หรือ ‘ธัมมัสสวนมัย’ การฟังธรรม จะทำให้เราได้ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต  ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น

9. การแสดงธรรม หรือ ‘ธรรมเทศนามัย’ คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี  

10. การทำความเห็นให้ถูกต้องเหมาะสม หรือ ‘ทิฏฐุชุกรรม’ คือ การไม่ถือทิฐิ  แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ 

โดยการทำบุญตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 10 นี้ มี 1 วิธีที่พรทิพย์เลือกใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเสมอมา นั่นก็คือ การเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ การกำหนดลมหายใจ ‘เข้า-ออก’ เพื่อทบทวนจิตใจตนเอง

โดยเธอให้ความเห็นว่า เป็นวิธีการที่สามารถทำได้เองง่ายๆ เพียงแค่เริ่มต้นจากจิตใจของตนเองก่อน เมื่อจิตสงบ ชีวิตก็จะมองเห็นตามความเป็นจริง ก่อให้เกิดสติและปัญญา ซึ่งหากเรามีสติที่มั่นคงแล้ว ก็จะสามารถทำประโยชน์และความดีให้กับผู้อื่นได้ต่อไป

นอกจากนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา ยังแนะนำวิธีการเจริญภาวนาให้กับผู้ที่สนใจสามารถนำไปทดลองปฏิบัติได้ด้วยตนเองว่า ควรเริ่มจากการนั่งในท่าที่สบาย ผ่อนคลาย ยืดตัวให้ตรง แล้วหายใจลึกๆ เข้า-ออก เพื่อเตรียมกาย และใจให้พร้อม จากนั้นเริ่มทำบริกรรมด้วยการท่องว่า ‘พุทธ’ ขณะสูดลมหายใจเข้า, ท่องว่า ‘โธ’ ขณะผ่อนลมหายใจออก ปฏิบัติแบบนี้ประมาณ 5 นาที เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้ว จะรู้สึกมีสติและสงบขึ้น

ทั้งนี้ การนั่งสมาธิสามารถทำได้ทุกวัน  และเพิ่มขึ้น เป็น 10 หรือ 15 นาที ตามลำดับ ไม่ควรหักโหม เพราะ การนั่งโดยใช้เวลานาน อาจจะทำให้มีอาการล้า และล้มเลิกได้ในที่สุด “การนั่งสมาธิทุกวันทำให้ตนมีสมาธิ จิตใจปลอดโปร่ง และสงบมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เริ่มต้นการทำงานอย่างสดใส และพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคได้ตลอดวัน” พรทิพย์บอกทิ้งท้าย

 

 

***เนื้อหาส่วนหนึ่งนำมาจากหนังสือ “ฉลาดทำบุญ” โดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย

“บุญ” ทำได้(ง่าย) เริ่มจากจิตใจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์