ช่วงเข้าพรราพระภิกษุต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?
ในวันเข้าพรรษา พระจะไปรวมกันที่โบสถ์พร้อมกันทั้งวัด แล้วก็อธิษฐานด้วยการกล่าวคำว่า “อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปม.” แปลว่า “ข้าพเจ้าขออธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ อาวาสแห่งนี้ตลอด ๓ เดือนนี้ “ ตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะอยู่ที่วัด ตลอด ๓ เดือน พอประชุมพร้อมกันเสร็จแล้วพระภิกษุผู้เป็นเถระ เช่น เจ้าอาวาส ก็จะให้โอวาทพระภิกษุ ให้ตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษ และให้ข้อคิดต่างๆ ในการฝึกฝนตนเอง
พระสงฆ์ท่านมีกิจกรรมในระหว่างพรรษาของท่าน แล้วพวกเราสาธุชนจะอธิษฐานพรรษาได้หรือเปล่า?
สาธุชนไม่มีพระวินัยบังคับเรื่องอธิษฐานโดยตรง แต่ในพรรษาเราควรตั้งใจว่า ใน 3 เดือนนี้จะทำความดีอะไรบ้าง สัก 2-3 ประการ อาทิเช่น
1.ใครที่ดื่มเหล้าอยู่ พรรษานี้ต้องตั้งใจว่า จะไม่ยอมให้เหล้าแม้แต่หยดเดียวผ่านลำคอ จะงดสูบบุหรี่และอบายมุขทั้งหลายด้วย ไม่ว่าการพนันเที่ยวกลางคืน งดตลอด 3 เดือน และจะตั้งใจสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกวัน
2.ให้จำพรรษาอยู่ในวงกาย กายยาววา กว้างศอก หนาคืบคือเอาใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวด้วยการทำสมาธิเอาใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย
***** ถ้าทำอย่างนี้แล้ว พรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความรุ่งเรืองและความสำเร็จของทุกๆ คน*****
แต่ละวัดมีการจัดกิจกรรมในวันเข้าพรรษาหมือนกัน หรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
หลักการใหญ่ที่ไม่ต่างกันคือการที่พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ 3 เดือน แล้วศึกษาพระธรรมวินัย แต่รายละเอียดของการปฏิบัติจะเข้มข้นขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละวัด เช่น บวชแล้วต้องมีการศึกษาพระธรรมวินัย เรื่องนี้เราต้องยอมรับว่า บางวัดอาจจะมีพระน้อย
ประเด็นหลัก คือ บวชแล้วขอให้ได้ศึกษาพระธรรมวินัย อย่าบวชเสียผ้าเหลือ ต้องมีกิจวัตรกิจกรรม มีการฝึกตัวเองที่เข้มข้น ตัวอย่างกิจวัตรที่วัดธรรมกายตอนเช้า ตื่นตี 4 ครึ่ง สวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ พอฟ้าเริ่มสางก็ออกไปบิณฑบาตส่วนหนึ่งอยู่ทำความสะอาดกุฏิ ดูแลสถานที่ต่างๆ ให้เรียบร้อย เวลา 7 โมงเช้า ฉันเช้าพร้อมกัน โดยมีพระอาจารย์มาสอนมารยาทในการขบฉัน 8 โมงครึ่ง สวดมนต์นั่งสมาธิต่อถึงเพล ฉันเพลเสร็จพักกันสักครู่พอบ่ายโมงก็ศึกษาพระธรรมวินัย ตกเย็นก็ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่และทำภารกิจต่างๆ 1 ทุ่ม สวดมนต์ นั่งสมาธิ กิจวัตรกิจกรรมเป็นอย่างนี้ตลอด ทุกๆ วัน เพราะฉะนั้น พระบวชใหม่จะได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่
บวชครบ 3 เดือนแล้ว คนโบราณจะเรียกว่า “ทิด” แปลว่าคนสุก คือกิเลสถูกการบำเพ็ญตบะด้วยการทำความดีบ่มจนสุก แม้ยังไม่ถึงกับหมดกิเลส แต่จากดิบๆ กลายเป็นสุกแล้ว กลายเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความยับยั้งชั่งใจ เจอปัญหาอะไรก็มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ศึกษามาเป็นหลักในการแก้ไข