เจาะปม "ไอโฟน" ไฟดูดดับ! - ผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางป้องกัน
ข่าวสด วิทยาการ
ในเบื้องต้น ผู้เชี่ยวชาญจีนสันนิษฐานว่า แอร์สาวเคราะห์ร้ายอาจใช้สายชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจไปซื้อสายชาร์จที่ใช้สำหรับกระแสไฟฟ้าแค่ 110 โวลต์ แต่เมืองจีนใช้ไฟ 220 โวลต์จึงเกิดเหตุขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายครอบครัวน.ส.หม่ายืนยันว่า ผู้ตายซื้อไอโฟนและอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ จากร้านแอปเปิ้ลสโตร์ของแท้แน่นอน และประกาศยื่นฟ้องร้องบริษัทแอปเปิ้ล อิงก์ ในฐานะผู้ผลิตด้วย
ด้านแอปเปิ้ล อิงก์ สาขาใหญ่ในสหรัฐ อเมริกา ก็ไม่นิ่งนอนใจ แสดงความรับผิดชอบด้วยการระบุว่าจะร่วมมือกับทางการจีนหาสาเหตุที่แน่ชัด พร้อมออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของน.ส.หม่า
สำหรับการวิเคราะห์ต้นเหตุ รวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้โดนไฟชอร์ตขณะใช้มือถือนั้น
ผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการของไทย ได้ให้ความรู้ผ่าน "ข่าวสดหลาก&หลาย" ดังนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำอีก!
จากกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน รศ.ดร.พิสิฐ บุญศรีเมือง รองอธิการบดี สถาบันเทค โนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ผู้เคราะห์ร้ายใช้โทร ศัพท์ "ยี่ห้อ" อะไร
แต่อยู่ที่ "ตัวชาร์จ" โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสื่อทั้งในและต่างประเทศไม่ค่อยหยิบยกประเด็นนี้มากล่าวถึง
ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม สจล. อธิบายต่อไปว่า
โดยหลักการแล้ว "อะแดปเตอร์" (ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า) ของโทรศัพท์มือถือจะแปลงไฟบ้านจาก 220v (โวลต์) เป็นไฟแรงดันต่ำ 5v ซึ่งเป็นกระแสไฟที่ไม่ส่งผลอันตรายถึงชีวิต
อย่างไรก็ดี การชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ กับอะแดปเตอร์ที่เสียบอยู่กับ "เต้ารับไฟบ้าน" พร้อมๆ กับสนทนาควบคู่ไปด้วย ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
เพราะนอกจากโทรศัพท์จะใช้พลังงานมากกว่าการชาร์จแบตเตอรี่ปกติแล้ว อะแดปเตอร์อาจโอเวอร์โหลดจนเกิดความเสียหายได้
สําหรับความเสียหายของ อะแดปเตอร์ที่สามารถส่งผลต่อชีวิตมนุษย์นั้น รศ.ดร.พิสิฐระบุว่า
หากเสียหายที่ตัวอะแดปเตอร์เฉยๆ ผู้ใช้จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
แต่หากเสียหายในลักษณะที่อะแดปเตอร์เกิดการ "โอเวอร์โหลด" จนอุปกรณ์ตัวนำกระแสไฟฟ้าทะลุถึงกัน แน่นอนว่ากระแสไฟที่เคยอยู่ในระดับต่ำ 5v กลายเป็นกระแสไฟบ้าน 220v วิ่งตรงสู่ร่างกายผู้ที่สัมผัสโทรศัพท์จนได้รับอันตรายทันที
"ไฟบ้าน 220v ก็เหมือนท่อน้ำขนาดใหญ่ ตัวอะแดปเตอร์คือวาล์วน้ำที่ทำหน้าที่บีบให้น้ำไหลน้อยหรือเบาลง ฉะนั้นหากวาล์วน้ำล็อกจนน้ำไม่สามารถไหลต่อได้ เปรียบเสมือนเสียหายเฉพาะที่ตัวอะแดปเตอร์จนขาดออกจากกันไม่สามารถนำกระแสไฟฟ้ามาที่โทรศัพท์ได้ แต่หากวาล์วน้ำเสียในลักษณะไม่สามารถกั้นน้ำได้ น้ำก็จะไหลได้เต็มที่ ซึ่งกรณีนี้หากเปลี่ยนจากน้ำเป็นไฟฟ้า แล้วอะแดปเตอร์เกิดโอเวอร์โหลดจนนำกระแสไฟฟ้าทะลุถึงกัน ผู้ที่สัมผัสไปโดนวัสดุที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าจะถูกไฟดูดทันที" รองอธิการบดี สจล.กล่าว
อาจารย์พิสิฐยืนยันว่า ประเด็นการเสียชีวิตในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวโทรศัพท์ แต่อยู่ที่พยานแวดล้อมอื่นๆ