องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ได้เปิดเผยภาพของโลกและดวงจันทร์ ที่ถ่ายจากยานอวกาศที่โคจรรอบดาวเสาร์ที่อยู่ห่างออกไป 1,500 ล้านกิโลเมตร
นาซาเผยภาพถ่ายโลก-ดวงจันทร์จากยานสำรวจดาวเสาร์
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ได้เปิดเผยภาพของโลกและดวงจันทร์ ที่ถ่ายจากยานอวกาศที่โคจรรอบดาวเสาร์ที่อยู่ห่างออกไป 1,500 ล้านกิโลเมตร
NASA/JPL-Caltech/Space Science Institute
ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นโลกและดวงจันทร์ที่ปรากฏเป็นเพียงจุดสีขาวขนาดเล็ก 2 จุด ที่ถูกถ่ายไว้โดยยานอวกาศแคสซินี เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เผยแพร่ภาพดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงการคารวะต่อ"ภาพจุดสีฟ้าอ่อน" ที่เคยถูกถ่ายไว้โดยยานวอยเอเจอร์ 1 เมื่อปี 1990 และถือเป็นครั้งแรกที่ชาวโลกทราบว่าดาวโลกได้เคยถูกถ่ายไว้จากระยะไกล
ตามโครงการของนาซา ได้เชิญชวนให้ผู้สนใจทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลองโดยการหาดาวเสาร์จากท้องฟ้าของตนเอง และแบ่งปันภาพดาวเสาร์ในระยะไกลลงในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจกว่า 20,000 คน
ลินดา สไปเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการยสนอวกาศแคสซินี เปิดเผยว่า การได้มองเห็นโลกของเราจากดาวเสาร์ ทำให้เราทราบว่า โลกเรามีขนาดเล็กเพียงใด เมื่อเทียบกับจักรวาลอันกว้างใหญ่ และเพื่อเป็นการทดสอบความเฉลียวฉลาดของพลเมืองดาวโลกในการส่งยานอวกาศออกไปยังดาวเสาร์เพื่อศึกษาและถ่ายภาพโลกของเรากลับมายังโลก
ภาพ: NASA/JPL-Caltech/Space Science Institute
ทั้งนี้ การถ่ายภาพของโลกจากภายในระบบสุริยจักรวาลที่อยู่ห่างออกไปเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เนื่องจากในระยะดังกล่าว โลกค่อนข้างอยู้ใกล้กับดวงอาทิตย์ที่มีความเจิดจ้า
ตามปกติแล้ว จอประสาทตาคนเราอาจได้รับความเสียหายหากเพ่งมองดวงอาทิตย์ ขณะที่ตัวจับภาพของกล้องก็อาจได้รับความเสียหายจากรังสีที่เจิดจ้า ทั้งนี้ ภาพดังกล่าว ถูกถ่ายได้ขณะที่ดวงอาทิตย์หลบอยู่ด้านหลังดาวเสาร์ ทำให้แสงส่วนใหญ่มาไม่ถึงจุดที่ยานตั้งอยู่
ทั้งนี้ ยานอวกาศแคสซีนี–ฮอยเกนส์ เป็นภารกิจยานอวกาศร่วมระหว่างนาซา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศอิตาลี เพื่อศึกษาดาวเสาร์และดาวบริวารตามธรรมชาติจำนวนมาก และถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 1997